กม.สมรสเท่าเทียมฉลุย! ‘นิด’ปลื้มรอยยิ้มLGBTQ

สภาโหวตฉลุย “กม.สมรสเท่าเทียม” กลุ่มหลากหลายทางเพศ  LGBTQ ได้รับสิทธิ์ “คู่สมรส” ด้าน สว. เร่งถกต้น เม.ย. ก่อนปิดสมัยประชุม

เมื่อวันที่ 27 มี.ค. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์  มะทา ประธานสภาฯ ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม เข้าสู่วาระพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์   (ฉบับที่..) พ.ศ….. หรือกฎหมายสมรสเท่าเทียม ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาเสร็จแล้ว เป็นการพิจารณาในวาระ 2 และวาระ 3

นายดนุพร ปุณณกันต์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญฯ ชี้แจงว่า  ตามรัฐธรรมนูญปี 60 ในมาตรา 4 กล่าวถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้เราทำเพื่อคนไทยทุกคน  มีจำนวนทั้งหมด 68 มาตรา โดยสรุป 3 ข้อ คือ 1.กมธ.เห็นว่าบทบัญญัติของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีการใช้ถ้อยคำไม่สอดคล้องกับบริบทของสังคมในปัจจุบัน จึงมีการปรับถ้อยคำให้มีความเหมาะสม เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศ

2.กมธ.เห็นว่าเกณฑ์อายุขั้นต่ำในการหมั้นและการสมรสของบุคคล ควรกำหนดไว้ที่อายุ 18 ปีบริบูรณ์​ เพื่อให้ผู้ที่จะทำการหมั้นหรือสมรส มีอายุพ้นจากความเป็นเด็ก และเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายภายในประเทศที่มีบทบัญญัติเกี่ยวข้องกับเด็ก รวมทั้งหลักการคุ้มครองสิทธิเด็กในการป้องกันปัญหาการแต่งงานในวัยเด็ก จากการบังคับให้เด็กแต่งงาน โดยจะไปเชื่อมกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กและพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนฉบับอื่นที่ประเทศไทยเป็นภาคีอยู่

3.กมธ.ได้เพิ่มบทบัญญัติขึ้นใหม่จำนวน 1 มาตรา เพื่อกำหนดให้คู่สมรสที่ก่อตั้งครอบครัวตามประมวลกฎหมายฉบับนี้ มีสิทธิ หน้าที่ และสถานะทางกฎหมายตามกฎหมายอื่น ที่ได้กำหนดไว้ให้แก่ “สามี ภรรยา” หรือ “สามี ภรรยาในทันที” ซึ่งจะเป็นการลดภาระให้แก่หน่วยงานต่างๆ ในการทบทวนและแก้ไขกฎหมายที่มีอยู่ในความรับผิดชอบ อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่กฎหมายฉบับใดกำหนดสิทธิหน้าที่ สถานะทางกฎหมาย หรือเรื่องอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับสามี ภรรยา หรือสามี ภรรยาไว้แตกต่างกัน หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องยังคงต้องดำเนินการทบทวนกฎหมายดังกล่าวให้แล้วเสร็จทันในระยะเวลาที่กำหนดไว้ ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ นอกจากนี้ กมธ.มีการตั้งข้อสังเกตเพื่อให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องพิจารณาปรับปรุงกฎหมายในความรับผิดชอบ ให้สอดคล้องกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์​ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ฉบับนี้

นายดนุพรกล่าวด้วยว่า กฎหมายฉบับนี้ต้องการที่จะคืนสิทธิ์ให้คนกลุ่มนี้   เราไม่ได้ให้สิทธิ์เขา แต่เป็นสิทธิ์เบื้องต้นที่คนกลุ่มนี้เสียสิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิ์ การรักษาพยาบาล การเสียภาษี การลดหย่อนภาษีต่างๆ รวมถึงการเซ็นยินยอมให้เข้าสู่กระบวนการรักษาพยาบาล คนเหล่านี้เขาไม่เคยได้สิทธิ์แบบนี้ ดังนั้นการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้เป็นการคืนสิทธิ์ และตอนหาเสียงเลือกตั้ง ทุกพรรคการเมืองบอกว่าอยากจะทำให้สังคมนี้เป็นสังคมที่เท่าเทียมกัน ลดความเหลื่อมล้ำ ดังนั้นกฎหมายฉบับนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความเท่าเทียม  กฎหมายฉบับนี้ไม่ใช่ยาที่จะรักษาได้ทุกโรค แต่อย่างน้อยเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ในการที่จะสร้างความเท่าเทียมกันในสังคมไทย ขอเชิญชวน สส.ทุกคนมาร่วมกันสร้างประวัติประเทศไทย เราจะเป็นประเทศที่สามในภูมิภาคเอเชียที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม เราจะเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเซาท์อีสต์เอเชีย

จากนั้นเปิดให้สมาชิกแสดงความคิดเห็น พิจารณาเรียงรายมาตรา โดย กมธ.เสียงข้างน้อยที่มาจากภาคประชาชนได้เสนอขอให้บัญญัติเพิ่มคำว่า “บุพการีลำดับแรก” (ที่ทำหน้าที่เสมือนมารดา-บิดา) เพื่อให้เกิดคำกลางๆ ลงในร่างกฎหมายแทนบิดา-มารดา รองรับความสมบูรณ์ของครอบครัวให้คู่สมรสเพศเดียวกัน แต่กรรมาธิการเสียงข้างมากชี้แจงว่า การกำหนดบุพการีลำดับแรก เป็นคำใหม่ที่ไม่เคยบัญญัติในกฎหมาย  และไม่มีการให้คำนิยาม จึงอาจเกิดผลกระทบในการบังคับใช้ได้ จึงเป็นเรื่องที่น่ากังวลที่จะกระทบต่อกฎหมายทั้งหมดของประเทศ ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร จึงมีมติเสียงข้างมาก เห็นชอบตามการปรับแก้ของกรรมาธิการเสียงข้างมาก

  ทั้งนี้ เมื่อบุคคล 2 คน ไม่ว่าจะเพศเดียวกัน หรือต่างเพศกัน จดทะเบียนสมรสร่วมกันแล้ว ก็จะมีสภานะ “คู่สมรส” ดังนั้นก็จะไปเข้าเงื่อนไขในกฎหมายอื่นๆ ที่รองรับสิทธิประโยชน์ของ “คู่สมรส” อาทิ สิทธิจัดการทรัพย์สินของคู่สมรส, สิทธิเป็นผู้จัดการแทนในทางอาญา เช่นเดียวกับสามี-ภรรยา, สิทธิรับมรดกหากอีกฝ่ายเสียชีวิต, สิทธิรับบุตรบุญธรรม, สิทธิการลงนามยินยอมให้รักษาพยาบาลอีกฝ่าย, สิทธิจัดการศพ, สิทธิได้รับประโยชน์ และสวัสดิการจากรัฐในฐานะคู่สมรส เช่น สิทธิประกันสังคม, สิทธิเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล รวมถึงคู่สมรส ยังสามารถรับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ พร้อมรับรองถึงกฎหมาย หรือระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรีใด อ้างถึงสามี ภริยา หรือสามี ภริยาให้ถือว่าอ้างตามคู่สมรสที่จดทะเบียนตามกฎหมายสมรสเท่าเทียมนี้ด้วย

จากนั้นที่ประชุมลงมติในวาระ 3 มีมติเห็นชอบด้วยคะแนน 400 เสียง ไม่เห็นชอบ 10 เสียง งดออกเสียง 2 ไม่ลงคะแนน 3 เสียง ให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือกฎหมายสมรสเท่าเทียม

ด้านนายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา หรือ โฆษกวิปวุฒิสภา เปิดเผยว่า วุฒิสภาพร้อมพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวในวันที่ 1-2 เม.ย. หรือวันที่ 9 เม.ย. ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของสมัยประชุมสภาสมัยสามัญ ครั้งที่ 2 ประจำปี 2566 และมั่นใจว่าจะสามารถพิจารณารับไว้พิจารณา พร้อมตั้งกรรมาธิการมาพิจารณาต่อได้ทันอย่างแน่นอน ซึ่งกรรมาธิการจะใช้เวลาในช่วงการปิดสมัยประชุมพิจารณา ก่อนจะเสนอกลับมายังวุฒิสภา เพื่อพิจารณาลงมติให้ความเห็นชอบในช่วงเปิดสมัยประชุมสภาสมัยสามัญ ครั้งที่ 1 ประจำปี 2567 ให้ทันก่อนที่สมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่จะเข้ามาปฏิบัติหน้าที่.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง