ติดเชื้อพุ่งคุมเข้มวาเลนไทน์

ไทยติดเชื้อขาขึ้นพุ่ง 14,822 ราย ดับ 20 คน กทม.ยังนำ 2,635 ราย ศปก.ศบค.จ่อชงชุดใหญ่เพิ่มมาตรการเข้มข้นช่วงวาเลนไทน์-สงกรานต์ หลังยอดทะลุหมื่นต่อเนื่อง สธ.เสนอปลดโควิดพ้นป่วยฉุกเฉิน ให้รักษาได้ตามสิทธิ ดีเดย์ 1 มี.ค. แนะเร่งฉีดวัคซีนกลุ่มเด็กเล็ก พบติดเพิ่มขึ้นจาก รร.และครอบครัว

เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รายงานสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยว่า  พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 14,822 ราย ติดเชื้อในประเทศ 14,524 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 14,320 ราย, มาจากการค้นหาเชิงรุก 204 ราย, มาจากเรือนจำ 52 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 246 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 8,503 ราย อยู่ระหว่างรักษา 105,129 ราย อาการหนัก 563 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 114 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 20 ราย เป็นชาย 11 ราย หญิง 9 ราย อายุ 60 ปีขึ้นไป 19 ราย มีโรคเรื้อรัง 1 ราย ขณะนี้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,545,873 ราย มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,418,380 ราย มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 22,364 ราย

สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุด ได้แก่ กทม. 2,635 ราย, สมุทรปราการ 986 ราย, ชลบุรี 754 ราย,  นนทบุรี 504 ราย, ภูเก็ต 434 ราย, ราชบุรี 379 ราย, นครศรีธรรมราช 372 ราย,  นครราชสีมา 334 ราย, สมุทรสาคร 317 ราย, มหาสารคาม 301 ราย ส่วนยอดฉีดวัคซีนวันที่ 9 ก.พ. 507,602 โดส ยอดฉีดสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.64 จำนวน 118,497,420 โดส

ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า เมื่อเวลา 08.30 น. พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) เป็นประธานการประชุม ศปก.ศบค. ซึ่งกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานและประเมินสถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบัน ให้ที่ประชุมได้รับทราบ รวมทั้งเรื่องการเปิดรับนักท่องเที่ยวในรูปแบบ Test and Go, การเปิดการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษา, การตรวจ ATK ให้กับประชาชนเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้สะดวกมากยิ่งขึ้น, แผนในการให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19, การจัดทำแผนความตกลง  Air Tavel Bubble (ATB) ระหว่างไทยและอินเดีย, แนวทางการนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงาน เพื่อให้เป็นไปตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 

อย่างไรก็ตาม ผลหารือของที่ประชุมวันนี้จะเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ในวันที่ 11 ก.พ. ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. เป็นประธาน ทั้งนี้ คาดว่าที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่จะพิจารณาแนวทางปฏิบัติ หรือกำหนดมาตรการเข้มข้นในช่วงเทศกาลวันวาเลนไทน์ และเทศกาลสงกรานต์ เนื่องจากขณะนี้มีความกังวลถึงสถานการณ์โควิด-19 ของประเทศไทยขณะนี้มีตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงเกินหมื่นคนอย่างต่อเนื่อง

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ในวันศุกร์ที่ 11 ก.พ.นี้ ว่ากระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีเรื่องเสนอเข้าสู่ที่ประชุมหลายเรื่อง อาทิ จะยกเลิกการให้บริการวิกฤตฉุกเฉินกรณีโรคโควิด-19 หรือยูเซป (UCEP COVID-19) โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เตรียมที่จะเปลี่ยนแนวทางการรักษาโรคโควิด-19 ให้ออกจากยูเซป และให้ใช้แนวทางรักษาแบบตามสิทธิของประชาชน เช่น สิทธิบัตรทอง สิทธิประกันสังคม และประกันสุขภาพต่างๆ ทั้งนี้ ย้ำว่าแม้จะออกจากยูเซปแล้ว แต่ไม่กระทบต่อการรักษาของประชาชนที่ยังมีสิทธิรักษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งคาดว่าจะลงนามได้เร็วๆ นี้ เพื่อให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.เป็นต้นไป

รวมทั้งจะมีการปรับราคาการใช้ RT-PCR ซึ่งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะมีการปรับค่าใช้จ่ายในการตรวจ RT-PCR ตามวิธีการตรวจ คือ ตรวจ 2 ยีน จะจ่าย 900 บาท และ 3 ยีน จ่าย 1,100 บาท ส่วนการตรวจด้วย ATK จะจ่าย 350 บาท และ 250 บาท ขึ้นอยู่กับประเภทที่ใช้ตรวจ แต่จะต้องเป็น ATK แบบที่บุคลากรแพทย์ใช้ รวมถึงปรับค่าใช้จ่ายสำหรับการเข้ารับการดูแลในฮอสพิเทลเป็น 1,000 บาทต่อวัน เท่ากับการรักษาที่บ้าน (HI) โดยยืนยันการปรับดังกล่าวจะไม่มีผลกระทบต่อประชาชน โดยใช้สิทธิการรักษาได้ตามสิทธิที่มีเหมือนการรักษาปกติ ยกเว้นการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนที่จะต้องมีค่าใช้จ่ายเอง

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่จำนวนผู้ติดเชื้อ โควิด-19 มีตัวเลขเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นายอนุทินกล่าวว่า สธ.ดูอยู่ บางครั้งจะต้องดูภาพรวม มีการตรวจเช็กอยู่ตลอดเวลา แม้ขณะนี้จะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นประมาณ 5 เท่า เมื่อเทียบกับต้นปี 2565 แต่ผู้เสียชีวิตมีจำนวนเท่าเดิม ผู้ป่วยอาการรุนแรงไม่ได้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น หากนับเป็นอัตราส่วนถือว่าลดลงด้วยซ้ำ ส่วนการติดเชื้อในครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น ทั้งเด็กที่ไปโรงเรียน และผู้ปกครองที่ไปทำงานกลับบ้านมา แล้วมารับประทานอาหารร่วมกันทำให้ติดได้ ซึ่งในทางการแพทย์บอกแล้วว่าโอมิครอนติดกันได้ง่าย แต่โชคดีที่ไม่รุนแรง

ดังนั้นถ้าประชาชนได้รับวัคซีนกันครบถ้วน ถึงแม้ติดเชื้อก็ไม่มีอาการรุนแรง ซึ่งเป็นไปตามการคาดหมายของแพทย์ จำนวนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องถือเป็นเวฟของสถานการณ์ ทุกวันนี้ต้องขอให้ใช้หลักโควิดฟรีเซตติงให้มากเท่าที่จะมากได้ ขณะเดียวกันต้องเร่งเรื่องการป้องกันโดยฉีดวัคซีนเข็มบูสเตอร์ ทั้งเข็ม 3 เข็ม 4 ซึ่งเรามีพร้อมแล้ว และตอนนี้กำลังฉีดวัคซีนให้กับเด็กในวัยเรียน จะทำให้ป้องกันได้ในอีกระดับหนึ่ง เพียงต้องใช้เวลาในการเซตตัวประมาณ 1 เดือนถึง 1 เดือนครึ่ง ทุกอย่างน่าจะกลับสู่ภาวะปกติ

เมื่อถามว่าตัวเลขที่เพิ่มสูงขึ้นในขณะนี้จะทำให้ส่งผลกระทบถึงช่วงเทศกาลสงกรานต์หรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ประเทศไทยจะมีเทศกาลที่ต่อเนื่องกันตั้งแต่ปีใหม่ ตรุษจีน สงกรานต์ ระยะห่าง 4-5 เดือน ซึ่ง สธ.รู้ดีว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้น จึงขอความร่วมมือทุกฝ่ายให้ระมัดระวัง

 ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในการควบคุมโรคยังคงให้ยึดตามมาตรการ VUCA โดยขณะนี้เร่งฉีดวัคซีนเข็ม 3 ได้มากกว่า 20% ของประชากรแล้ว ขณะที่ประชาชนพบว่าให้ความร่วมมือใส่หน้ากากทุกคน ขอให้ใช้การป้องกันตนเองขั้นสูงสุด ส่วนเรื่อง COVID Free Setting ขอความร่วมมือสถานประกอบการทุกแห่งดำเนินการจะช่วยให้สถานที่มีความปลอดภัย และตรวจ ATK เป็นระยะ ถ้าดำเนินมาตรการเหล่านี้ผู้ติดเชื้อจะลดลง โดยขณะนี้ระบบสาธารณสุขยังมีเตียงรองรับอีกกว่า 70% ซึ่งขณะนี้ผู้ป่วยอาการหนักเหลือประมาณ 500 ราย และใส่เครื่องช่วยหายใจ 110 ราย ลดลงกว่าเดิมประมาณ 10 เท่า หากมีผู้ติดเชื้อที่ต้องรับการรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นจึงพร้อมรองรับได้

นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่า จำนวนเคสหรือผู้ติดเชื้อที่สูงขึ้นนั้น เมื่อแบ่งเป็นช่วงอายุ ส่วนใหญ่จะเจอผู้ติดเชื้อในกลุ่มวัยทำงานสูงสุด คือ 20-29 ปี ตามด้วย 30-39 ปี และ 40-49 ปี แต่ที่เพิ่มขึ้นมาในช่วง 2 สัปดาห์ เป็นกลุ่มเด็ก 0-9 ปี และวัยรุ่น 10-19 ปี สูงขึ้น แต่ถ้าดูในอัตราการป่วยตาย กราฟจะค่อนข้างตรงกันข้ามกัน โดยจะเป็นผู้ที่อายุ 70 ปีขึ้นไปเป็นส่วนใหญ่ และ 60-69 ปี สูงเช่นกัน ดังนั้นหากติดเชื้อแล้วให้เว้นระยะห่างจากปู่ย่าตายาย เนื่องจากอาจจะมีการติดเชื้อและมีอาการรุนแรง และอาจเสียชีวิตได้

ส่วนที่ว่าเหตุใดเด็กถึงติดเชื้อมากขึ้นนั้น ได้แบ่งช่วงอายุเด็กออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 0-4 ปี, 5-9 ปี, 10-14 ปี และ 15-19 ปี จะพบว่า ในกลุ่มเด็กประถมถึงมัธยมต้น จะมีการติดเชื้อที่โรงเรียนสูง ส่วนเด็กเล็กก็จะติดเชื้อจากคนในครอบครัว เช่น พ่อแม่ไปติดเชื้อมาและนำมาติดลูกอีกที ในขณะที่วัยรุ่นเป็นผู้สัมผัสผู้ติดเชื้อภายนอก และจากในพื้นที่ชุมชน แม้ว่าจะติดเชื้อได้ แต่อาการจะไม่รุนแรง

นพ.วิชาญ ปานวัน ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ถึงแม้เด็กติดเชื้อแล้วจะมีอาการน้อย แต่สิ่งที่เป็นกังวลคือ เด็กบางคนอาจเกิดภาวะ MIS-C หรือภาวะการอักเสบของอวัยวะหลายระบบ ที่เกิดขึ้นหลังจากการติดเชื้อโควิด ดังนั้นควรเร่งฉีดวัคซีนให้กลุ่มเด็กเล็ก เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด และสามารถเปิดโรงเรียนได้อย่างปลอดภัย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง