‘ปธ.ชวน’ ชี้ 90 ปี ประชาธิปไตยล้มลุกคลุกคลาน อยู่ได้มั่นคงถึงทุกวันนี้มาจากสถาบัน คนไทยรับไม่ได้เปลี่ยนเป็นระบอบอื่น กรีดวิกฤติหนักสุดตั้งแต่ปี 44 เหตุไม่ยึดหลักนิติธรรม-คุณธรรม
27 มิ.ย. 2565 – เมื่อเวลา 09.30 น. ที่รัฐสภา รัฐสภาจัดเสวนาวิชาการ เนื่องในโอกาสครบรอบ 90 ปี รัฐสภา โดยนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา บรรยายพิเศษ เรื่อง “90 ปี รัฐสภาไทย การเดินทางและความหวัง” ความตอนหนึ่งว่า กระบวนการประชาธิปไตยไม่ได้ราบรื่น พูดได้เต็มปากว่าล้มลุกคลุกคลาน มีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพราะบางสมัยระบบนิติบัญญัติมาจากการเลือกตั้ง บางสมัยมาจากการแต่งตั้ง ในส่วนของระบบการเลือกตั้งมีความเปลี่ยนแปลงหลายครั้ง ช่วงแรกเป็นระบบรวมเขต แต่ในภาพความเป็นจริงเป็นเรื่องยากที่ในจังหวัดใหญ่จะมีเขตเดียว ต่อมาในปี 2518 เป็นจุดเริ่มต้นของระบบเลือกตั้งแบบแบ่งเขต โดยกำหนดเขตละไม่เกิน 3 คน ถือเป็นความก้าวหน้าชัดเจน ระบบนี้ใช้ในรัฐธรรมนูญฉบับหลังๆ เรื่อยมา และเปลี่ยนแปลงอีกครั้งในปี 2540 ที่มี ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ต่อมาปี 2562 ก็เปลี่ยนแปลงเรื่องการคิดคะแนน
“ทูตเยอรมนีมาคุยเรื่องระบบเลือกตั้งกับผม บอกว่าที่ไทยใช้อยู่ขณะนี้ เยอรมนีเคยใช้ แล้วมีปัญหาในด้านความมั่นคงของรัฐบาลและพรรคการเมือง จึงกลับไปใช้แบบที่ไทยได้ยกเลิกไป” นายชวน ระบุ
ประธานรัฐสภา กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ 2540 ที่เราคิดว่าดีในที่สุดก็มีปัญหา เพราะการเมืองเข้าไปแทรกแซง ดังนั้น บางเรื่องจึงไม่ได้เกี่ยวกับตัวกฎหมาย อย่ามองเรื่องข้อบกพร่องรัฐธรรมนูญทั้งหมด แต่สำคัญคือพฤติกรรมของคนใช้รัฐธรรมนูญ หลายครั้งที่เกิดวิกฤติมาจากพฤติกรรมของตัวบุคคล กฎหมายที่ดีจึงมีความจำเป็น เพื่อกำหนดโครงสร้างบทบาทแต่ละฝ่ายอย่างชัดเจน แต่ต้องประกอบไปด้วยผู้ใช้ที่ดีด้วย ตัวอย่างรัฐธรรมนูญ 2540 ที่เกิดวิกฤติจนถึงทุกวันนี้ คือการที่ผู้บริหารใช้วิธีการบริหารด้วยการเลือกปฏิบัติ และใช้วิธีการนอกหลักนิติธรรม
ตัวอย่างที่ดีที่สุดคือปัญหาภาคใต้ที่ยังเกิดปัญหาจนทุกวันนี้ เกิดจากความผิดพลาดของบุคคลที่มาจากระบบการเลือกตั้งตามแนวทางประชาธิปไตย แต่ไม่ยึดหลักประชาธิปไตยในการบริหาร ไปใช้หลักนอกนิติธรรม นั่นคือนโยบายวันที่ 8 เม.ย.2544 คือวันที่เริ่มนโยบายเกิดวิกฤติในภาคใต้ เป็นนโยบายเก็บฆ่าทิ้ง สันนิษฐานว่าพื้นที่ภาคใต้มีขบวนการโจรก่อการร้าย ไม่เกิน 40 – 50 คน บอกว่าเป็นพวกโจรกระจอกแล้วจัดการเสีย ตนถือว่าเป็นเหตุการณ์วิกฤติใน 90 ปี ที่เราไม่เคยสูญเสียขนาดนี้ เฉลี่ยผู้เสียชีวิตต่อเนื่องจากเหตุการณ์จนถึงวันนี้ไม่น้อยกว่า 5 – 6 พันคน ทั้งที่ปัญหาในพื้นที่มีการแก้ไขเยียวต่อเนื่องมาตลอดตั้งแต่สมัย ร.5 – ร.6 แต่พอนโยบายวันที่ 8 เม.ย.2544 ออกมาว่าจะแก้ปัญหาหมดใน 3 เดือน ด้วยวิธีเก็บฆ่าทิ้งเดือนละ 20 คน จึงเป็นเงื่อนไขที่มาของทุกวันนี้ ทำให้ทุกวันนี้รัฐบาลต้องใช้เงินเป็นแสนล้านบาทในการแก้ปัญหาซึ่งปัญหายังไม่จบ
“วิกฤติรุนแรงที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงประเทศมีไม่มาก นอกจากเรื่องจังหวัดชายแดนภาคใต้ เรื่องอื่นเราก็สามารถแก้ปัญหากันได้ ความมั่นคงในระบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีกระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงมาจนทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งเพราะคนไทยมีความผูกพันกับสถาบัน และรับไม่ได้ที่จะเปลี่ยนแปลงไปเป็นรูปแบบอื่น” ประธานรัฐสภา ระบุ
นายชวน กล่าวด้วยว่า ประเทศไทยเปิดโอกาสให้คนทุกเชื้อชาติ ทุกศาสนา ให้ได้รับโอกาส นี่คือสิ่งที่พูดได้ว่า 90 ปี ของบ้านเมืองเราหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเปิดกว้างมาก แต่การเปิดกว้างก็ไม่ได้มีจุดบวกทั้งหมด ความเหลื่อมล้ำก็มาจากการเปิดกว้าง คนมือยาวสาวได้สาวเอา คนมือสั้นสาวได้ไม่มาก คนมือยาวรวยติดอันดับ แต่คนรวยก็ต้องระวัง ถ้าทำหลุมศพใช้เนื้อที่ 2 – 3 ร้อยไร่ แต่ถ้าอยู่อย่างรู้จักประมาณ รวยก็รวยไป แต่อย่าไปแสดงให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากเกินไปก็จะอยู่ได้ แต่ถ้ามากเกินไปก็ตำตาคนจะรับไม่ได้ เรื่องนี้เป็นโจทย์ที่ต้องทบทวน ว่าทำอย่างไรให้เกิดการควบคุมการฉวยโอกาสที่เกินไป
ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองน่าเป็นห่วง อดีตความรุนแรงมีอยู่บ้าง แต่ไม่มีการซื้อเสียง อย่างดีคือเลี้ยงเหล้า แต่ตอนนี้ไม่มีใครพูดเรื่องเลี้ยงเหล้าแล้ว เป็นเรื่องธุรกิจการเมือง คำว่าเสียงสามร้อย ห้าร้อย แปดร้อย สมัยก่อนไม่มี นี่คือสิ่งที่น่าเป็นห่วงในการเมืองเช่นนี้ ซึ่งต้องเอาทุนคืน เป็นที่มาของการทุจริตโกงกิน สภาจึงไม่นิ่งดูดายเป็นที่มาของโครงการ “บ้านเมืองสุจริต” โดยเน้นย้ำ รณรงค์เรื่องความสุจริตให้เด็กฟัง
นายชวน กล่าวว่า 90 ปี วินัยของเรายังไม่ดีเท่าที่ควรก่อให้เกิดปัญหาร้อยแปด เราต้องให้ความสำคัญเรื่องวินัย เพราะคุณภาพคนเป็นสิ่งสำคัญ เป็นโจทย์สำคัญที่จะทำให้ประเทศพัฒนาไปในวันข้างหน้า ทั้งนี้ ช่วงที่เกิดวิกฤติต่อตำแหน่งรัฐมนตรี นักการเมือง มากที่สุด คือช่วงตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา ไม่มียุคใดที่มีรัฐมนตรีติดคุกมากเท่าช่วงนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นมาจากความเชื่อเรื่องการหาผลประโยชน์ และความไม่เชื่อเรื่องหลักนิติธรรม การปกครองด้วยหลักคุณธรรม ถือเป็นบทเรียนสำคัญมาก เราต้องไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้มาทำลายสถิติ 100 ปีข้างหน้าอย่ามาทำลายสถิติคนติดคุก นี่คือวิกฤติของบ้านเมืองอันเกิดมาจากการปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่ซื่อสัตย์สุจริต.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ปชป.เลือดไหลอีก 'หมอบัญญัติ' ลาออกจากสมาชิกพรรคแล้ว
นายแพทย์บัญญัติ เจตนจันทร์ อดีต.ส.ระยอง พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กพร้อมจดหมายลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ มีใจความว่า
'อดีตนายกฯชวน' ไล่บี้ดูแลสนามบินตรังโดนทิ้งงาน ปล่อยโจรขโมยถึง 29 ครั้ง
'อดีตนายกฯชวน' ลงพื้นที่ตรวจสอบความเสียหายสนามบินตรัง หลังผู้รับเหมาทิ้งงาน คนร้ายสบช่องลักสายไฟฟ้า-อุปกรณ์ต่างๆ สารภาพขโมยถึง 29 ครั้ง
หมกมุ่น! ปชน.ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญพรรคเดียว 17 ฉบับรอบรรจุวาระ
'ปชน.' ยื่นร่างแก้ รธน.รายมาตราต่อรัฐสภาแล้ว รวม 17 ฉบับ สบช่องเขี่ย 'สว.' พ้นทาง พร้อมให้สิทธิพรรคฝ่ายค้านได้นั่ง 'ปธ.-รองปธ.สภา' ติดทางด่วน สอบ 'ป.ป.ช.' รอวิป 3 ฝ่าย เคาะวันเข้าสภา
'หมอวรงค์' เปิดเบื้องลึก! ทำไมไม่ควรนิรโทษกรรมคดี 112
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ "ทำไมจึงไม่ควรนิรโทษกรรมคดี 112" โดยระบุว่า
'ชวน' เตือนรัฐบาลปล่อย 'พล.อ.พิศาล' ลอยนวล ส่งผลรุนแรงใต้
“ชวน” เตือนรัฐบาลไม่สามารถนำตัว พล.อ.พิศาล เข้าสู่ขบวนการยุติธรรม ส่งผลความรู้สึกประชาชนในพื้นที่ เสี่ยงความรุนแรง ระบุถ้าคิดว่าไม่ผิดควรออกมาสู้คดี
'ชวน' ชี้ยกเลิกทัศนศึกษา ไม่ช่วยแก้ปัญหาอุบัติเหตุไฟไหม้ แต่อยู่ที่หน่วยงานต้องเข้มงวดจริงจัง
นายชวน หลีกภัย สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าว่า เรื่องทำนองนี้เกิดขึ้นหลายครั้ง แต่กรณีนี้กระทบกระเทือนคนมากเป็นพิเศษ เพราะเราต้องสูญเสียทรัพยากรสำคัญที่สุดของชาติคือนักเรียนถึง 23 คนบาดเจ็บรวมทั้งหมด 50 คน