YouTube channel “บ่อจอย” ขุมทรัพย์บ่อน้ำแห่งความสุข

จากข้อมูลของกรมสุขภาพจิตด้วยระบบ Mental  Health Check-in ในปี 2564 พบว่า สุขภาพจิตประชากรวัยทำงานตอนต้นช่วงอายุระหว่าง 20-29 ปี มีปัญหาภาวะเครียดสูงถึงร้อยละ 29.76 เสี่ยงซึมเศร้าร้อยละ 33.99  เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายร้อยละ 19.19 และมีภาวะหมดไฟร้อยละ 15.22 ซึ่งโดยรวมเป็นอัตราส่วนของปัญหาด้านสุขภาพจิตที่สูงกว่าประชากรในวัยอื่นประมาณ 3 เท่า

นับเป็นสถานการณ์ที่น่ากังวล สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึง “สานพลังสร้างนวัตกรรม สื่อสารสุข” ด้วยการสนับสนุนการสื่อสารความรู้ด้านสุขภาพจิตในรูปแบบที่น่าสนใจให้กลุ่มวัยทำงานผ่านช่องทางออนไลน์ มุ่งหวังให้เกิดแนวทางสร้างทุนทางจิตวิทยาเชิงบวกให้ประชาชน ให้มีความหวัง (Hope) มีความเชื่อมั่นในความสามารถของตัวเอง (Efficacy) มีความเข้มแข็งทางจิตใจ (Resilience) และสามารถมองโลกในแง่ดี (Optimisim) เป็นส่วนสำคัญในการใช้ชีวิตในโลกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนซับซ้อนผันผวน

ความร่วมมือโดย สสส.เป็นหลักในการขับเคลื่อนนั้น  ได้มีการแถลงข่าวเมื่อต้นเดือนมกราคมนี้เอง พร้อมกับ  บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส และเพจ Understand เปิดตัว YouTube channel  “บ่อจอย” เพื่อส่งต่อความรู้สุขภาพจิตในรูปแบบ Edutainment เพิ่มช่องทางการเข้าถึงประชาชนให้มากขึ้น

นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า ขณะนี้พบว่าสุขภาพจิตคนวัยทำงานมีความตึงเครียด ซึมเศร้า  ทำร้ายตัวเองสูงมาก อันเนื่องมาจากแรงกดดันทางสังคม  การระบาดของโควิดส่งผลกระทบทางจิตใจสูง ดังนั้นต้องมีการสื่อสารสุขภาพจิตให้เข้าใจง่าย เชื่อมโยงกับตัวเองเสมือนหนึ่งเป็นหวัดแล้วกินยา เรื่องสุขภาพจิตนี้เป็นสิ่งที่ใกล้ตัว ทำให้เกิดการซึมซับอย่างปกติในชีวิต เป็นสิ่งที่ต้องจับตามองเพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผู้คนด้วย

บ่อจอย Channel เป็นขุมทรัพย์บ่อน้ำแห่งความสุข เป็นช่องทางนำเรื่องที่ไม่สนุกและเข้าใจยากในเชิงจิตวิทยามาเล่าใหม่ให้สนุก ส่งเสริมให้สังคมมีสุขภาพจิตที่ดีด้วยการสนับสนุนจาก AIS Understand อาทิ  Kinjai (กินใจ) รายการในรูปแบบการพูดคุยสัมภาษณ์จิตแพทย์ประเด็นสุขภาพจิตง่ายๆ ในบรรยากาศสบายๆ ในระหว่างมื้ออาหาร เพื่อสร้างภาพลักษณ์ว่าสุขภาพจิตเป็นเรื่องใกล้ตัว พูดคุยได้ง่าย ลดความรู้สึกอคติต่อโรคจิตเวชและปัญหาด้านสุขภาพจิต ให้มีการยอมรับปัญหาด้านสุขภาพ การเข้าถึงบริการในการรักษาจิตเวชในแต่ละพื้นที่ของเมืองไทย

“เน้นกลุ่มเป้าหมายเยาวรุ่น ชี้ช่องแนะแนวเพื่อปรับใช้ในชีวิตเพื่อความสุข ความเข้าใจในเรื่องสุขภาพจิต อยู่อย่างไรให้มีความสุข คาดหมายว่าจะมีผู้เข้าชมหลักล้านคน ดูแล้วเกิดปัญญามีสาระถึงกลุ่มเป้าหมาย สนุกกว่าการดูละคร” นายชาติวุฒิกล่าว และเปิดเผยอีกว่า

สสส.เร่งดำเนินการด้านการสร้างเสริมสุขภาพจิตด้วยวัคซีนใจ ให้ประชาชนมีสุขภาพจิตดี มุ่งเน้นสร้างเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตก่อนเจ็บป่วย โดยสนับสนุนการสร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งระดับบุคคล สังคม และนโยบาย  ด้วยการพัฒนาศักยภาพผู้นำการเปลี่ยนแปลง สร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมที่ทันสมัย ตอบสนองต่อสถานการณ์สังคม ผลักดันนโยบายที่เน้นการเข้าถึงบริการพื้นฐาน รวมทั้งสื่อสารสาธารณะเพื่อสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพจิตให้ประชาชนตลอดช่วงวัย มีศักยภาพทางจิตใจ สามารถเข้าใจตนเองและบุคคลรอบข้าง มีความเข้มแข็งทางใจ ทักษะเชิงบวก สามารถจัดการอารมณ์ความเครียด มีความสามารถรับมือและจัดการปัญหาต่างๆ ได้ รวมทั้งเป็นส่วนสนับสนุนการดำเนินงานด้านอื่นๆ เพื่อกระตุ้นพฤติกรรมและวิถีชีวิตเกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพจิตของประชาชน

นางสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส  จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส กล่าวว่า AIS Play ให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตสนับสนุน 3 รายการดีๆ สู่ประชาชน ให้เป็นสะพานบุญร่วมกันทำสิ่งดีๆ ระหว่าง สสส. AIS Understand ทุกคนรู้จัก AIS Digital line ให้บริการพัฒนาระบบเครือข่ายการสื่อสาร เศรษฐกิจดิจิทัลของไทย การสร้างองค์ความรู้ ในฐานะผู้ให้บริการดิจิทัล  นอกเหนือจากการพัฒนาบริการและโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อสนับสนุนและยกระดับการสื่อสาร และเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศแล้ว ยังให้ความสำคัญกับการสร้างองค์ความรู้เพื่อปลูกจิตสำนึก สื่อสารให้เกิดการรับรู้เกี่ยวกับทักษะพลเมืองในยุคดิจิทัลทุกแง่มุม ผ่านโครงการอุ่นใจไซเบอร์ ที่มีทั้งการย้ำเตือนเกี่ยวกับภัยไซเบอร์ และการสร้างทัศนคติที่ถูกต้องในการใช้ชีวิตในโลกออนไลน์

โดยความร่วมมือในครั้งนี้สอดคล้องเจตนารมณ์ดังกล่าวอย่างยิ่ง และเชื่อมั่นว่าจะนำไปสู่การสร้างสุขภาวะทางจิตให้แก่คนไทย ทั้งนี้ AIS ยินดีเป็นช่องทางเผยแพร่องค์ความรู้ดังกล่าวผ่านทาง AIS PLAY ซึ่งเป็น  Streaming Platform โดยไม่คิดค่าบริการ Content ดูฟรีทุกเครือข่าย (คิดค่าบริการดาต้าตามแพ็กเกจการใช้งานของแต่ละท่าน) โดยสามารถรับชมได้ในทุกช่องทางทั้ง แอปพลิเคชัน AIS PLAY ดาวน์โหลดได้ที่ https://m.ais.co.th/lp ทั้ง Apple App store, Google Play  Store รับชมผ่านกล่อง AIS PLAYBOX, SAMSUNG  Smart TV, Apple TV และเว็บไซต์ aisplay.ais.co.th รวมถึง YouTube ช่องบ่อจอย หวังว่าช่องทาง AIS PLAY จะเป็นคอมมูนิตี้และพื้นที่ส่งต่อองค์ความรู้ด้านสุขภาพจิตให้แก่คนไทยในฐานะผู้ให้บริการดิจิทัลอันดับ 1 ของไทย

นางสาวดลพร นิธิพิทยปกฤต ผู้ร่วมก่อตั้งเพจ Understand กล่าวว่า ได้ร่วมมือกับ สสส.จัดทำโครงการพัฒนาและสื่อสารเพื่อการส่งเสริมสุขภาพจิตเชิงบวกในวัยทำงานผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อการพัฒนาและเสริมสร้างสุขภาพจิตเชิงบวกประชาชนวัยทำงาน นำไปสู่การมีความรอบรู้ด้านสุขภาพจิตผ่านทาง YouTube  channel เนื่องจากเป็นสื่อสังคมออนไลน์ที่คนไทยในกลุ่มวัยทำงานใช้กันอย่างแพร่หลาย สามารถนำเสนอเนื้อหาด้านสุขภาพจิตที่มีความยาวและรายละเอียดได้มาก  สามารถสื่อสารกับประชาชนผ่านทางการแสดงความคิดเห็นของผู้รับชมได้

โดย YouTube channel ช่อง “บ่อจอย” ประกอบด้วย  3 รายการ ได้แก่ 1.รายการ iUV Day ดำเนินรายการด้วยวิธี Experimental psychology ที่เน้นใช้การทดลองทางสังคมกับกลุ่มตัวอย่าง 2.รายการ Imposter การสนทนารอบวง นำเสนอเนื้อหาด้านสุขภาพจิตผ่านการให้อาชีพต่างๆ มาพบกัน แลกเปลี่ยนมุมมองกัน โดยมีการแฝงตัวแบบ Imposter 3.รายการ Kinjai การพูดคุยกับจิตแพทย์และนักจิตวิทยา นำเสนอการดำเนินงานด้านสุขภาพจิต และสภาพปัญหาสุขภาพจิตของคนวัยทำงานในยุคปัจจุบัน ผ่านการพูดคุยประเด็นด้านสุขภาพจิตอย่างง่ายๆ ในบรรยากาศสบายๆ ในร้านอาหาร

“ปัจจุบัน YouTube channel จัดเป็นโทรทัศน์ดิจิทัลช่องหนึ่ง ซึ่งรายการที่นำมาจัดวางอาจมีความแตกต่างกันในแง่การนำเสนอ เนื้อหาสาระ เป้าหมายของสื่อ และกลุ่มของผู้รับชมได้ การที่มีช่องทางเช่นนี้จะช่วยทำให้สามารถถ่ายทอดเนื้อหาด้านสุขภาพจิตและจิตเวชได้เป็นจำนวนมาก สามารถปรับเนื้อหาตามสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว ให้มีความทันสมัยและแก้ปัญหาในสังคมที่เกิดขึ้นได้อย่างฉับไว ต้องขอขอบคุณการสนับสนุนจาก สสส. ในการวางแผนขับเคลื่อนโครงการฯ และข้อมูลจากการแนะนำโดยบุคลากรผู้ทรงคุณวุฒิด้านสุขภาพจิตจากกรมสุขภาพจิต และวันนี้ถือเป็นโอกาสสำคัญที่ทั้ง 3 รายการจะได้เผยแพร่ผ่านช่องทาง AIS PLAY อีกช่องทางหนึ่ง ซึ่งเป็นช่องทางที่ได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน” นางสาวดลพรกล่าว

อนึ่ง YouTube channel “บ่อจอย” ทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย มีผู้เข้าร่วมรายการ พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์  จักรกฤต โยมพยอม หรือครูทอม คำไทย ติวเตอร์ภาษาไทยสุดเฟี้ยว คุณเอิร์ธ ตัวแทนผู้เข้าร่วมรายการ โดยมีพิชญ์สินี สมิทธิเนตย์ Learning Designer ของ Understand และทีมฝ่ายวิชาการของช่องยูทูบบ่อจอย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นวัตกรรมดูแลผู้สูงอายุสมองเสื่อม ลดเครียดคนดูแล-สร้างสุขคนป่วย

สมองส่วนหน้า (Prefrontal Cortex) อยู่ภายใต้กะโหลกหน้าผาก เสมือนหนึ่งเป็น CEO ขององค์กรควบคุมการคิด การตัดสินใจ อารมณ์ การแสดงออกและการกระทำของมนุษย์ โดยทำงานร่วมกับสมองส่วนอื่นๆ

อพวช. ร่วมเปิดตัวกิจกรรม “ปิดเทอมสร้างสรรค์” ปี 66

องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ร่วมกับ กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมภาคีเครือข่าย จัดเปิดตัวกิจกรรม “ปิดเทอมสร้างสรรค์” อัศจรรย์วันว่าง ประจำปี 2566 เพื่อเปิดพื้นที่ให้เด็ก เยาวชนเข้าถึงกิจกรรมเรียนรู้ตามความสนใจช่วงวันว่าง 150 วัน/ปี ที่กระจายสู่พื้นที่ใกล้บ้าน

นายกรัฐมนตรี ร่วมกิจกรรมรณรงค์ “ปิดเทอมสร้างสรรค์ อัศจรรย์วันว่าง” สสส. สานพลัง ภาคี-เยาวชน นำตัวอย่างศักยภาพเด็กไทยที่ค้นพบช่วงปิดเทอมโชว์ ครม.

เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

เปิดหลักสูตร“ก่อการครูแพทย์" ป้องกันภาวะหมอ..หมดไฟ

ทำไม?!? ครูที่สวมเสื้อกาวน์สีขาวสอนนิสิตนักศึกษาแพทย์จึงหมดไฟในการทำงานอย่างรวดเร็ว ไม่มีความสุขในการสอน ทั้งๆ ที่อยู่กับนาทีความเป็นความตายของคนไข้ตรงหน้า