นักวิจัย คณะวิทย์ฯ มช. ศึกษาผลของการปลูกต้นไม้ที่มีต่อการฟื้นฟูระบบนิเวศป่าในพื้นที่เขตร้อนและกึ่งเขตร้อนในทวีปเอเชีย พบว่าการปลูกป่าในพื้นที่ที่มีต้นไม้บางส่วนหลงเหลืออยู่ประสบความสำเร็จมากกว่าการปลูกป่าในพื้นที่ป่าถูกทำลายโดยสิ้นเชิง ซึ่งผลการศึกษาครั้งนี้มีความสำคัญอย่างมากต่อความพยายามที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกในการฟื้นฟูป่าเขตร้อน
งานวิจัยในหัวข้อ "The road to recovery: a synthesis of outcomes from ecosystem restoration in tropical and sub-tropical Asian forests" ทีมนักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำโดย รศ.ดร.สตีเฟ่น เอลเลียต หน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่า ภาควิชาชีววิทยา และ น.ส.เบญจพรรณ มโนหาญ นักศึกษาระดับปริญญาโท สาขาชีววิทยา ซึ่งเป็นการศึกษาผลของการปลูกต้นไม้ที่มีผลต่อการฟื้นฟูระบบนิเวศป่าในพื้นที่เขตร้อนและกึ่งเขตร้อนในทวีปเอเชีย ด้วยการสังเคราะห์ข้อมูลการตาย และการเติบโตของต้นไม้ที่ปลูกในพื้นที่ 176 แปลง รวมทั้งแปลงสาธิตของหน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (FORRU-CMU) และเปรียบเทียบการฟื้นตัวทางโครงสร้างและความหลายทางชีวภาพของแปลงฟื้นฟูและแปลงป่าฟื้นตัวตามธรรมชาติ
งานวิจัยอธิบายผลจากความพยายามปลูกป่าในพื้นที่ป่าถูกทำลายโดยสิ้นเชิงว่าประสบความสำเร็จน้อยกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับการปลูกป่าในพื้นที่ที่มีต้นไม้บางส่วนหลงเหลืออยู่ ต้นกล้าที่ปลูกในพื้นที่ที่มีต้นไม้เหลืออยู่มีโอกาสรอดชีวิตมากกว่าประมาณร้อยละ 20 ซึ่งเน้นย้ำถึงความจำเป็นของมาตรการป้องกัน และดูแลต้นกล้าที่ปลูกอย่างเข้มข้นในพื้นที่ที่ถูกรบกวนอย่างรุนแรง อย่างไรก็ตาม เป้าหมายที่ท้าทายดังกล่าวยังไม่สามารถบรรลุได้ในปัจจุบัน เนื่องจากขาดเทคนิคที่มีประสิทธิภาพในการทำให้เกิดระบบนิเวศป่าที่สามารถฟื้นตัวได้อีกครั้ง
หนึ่งในวิธีการฟื้นฟูป่าที่งานวิจัยชิ้นนี้แนะนำคือ วิธีพรรณไม้โครงสร้าง ซึ่งเป็นวิธีการที่หน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่า (FORRU) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำมาปรับใช้ วิธีการนี้แนะนำให้ปลูกพรรณไม้ท้องถิ่นที่พบในป่าธรรมชาติใกล้เคียง 20-30 ชนิด จำนวน 500 ต้นต่อไร่ โดยต้นไม้ที่ปลูกควรมีความทนทานต่อแสงแดดและความแห้งแล้ง มีทรงพุ่มกว้างหรือสร้างสารเคมีที่ยับยั้งการเจริญของวัชพืช มีลักษณะดึงดูดสัตว์ผู้กระจายเมล็ด เช่น ดอกหรือผลเป็นที่ชื่นชอบของสัตว์ผู้กระจายเมล็ด และสามารถเพาะพันธุ์ได้ง่ายในเรือนเพาะชำ
ทั้งนี้ การฟื้นฟูป่าต้องอาศัยความร่วมมือของชุมชนในพื้นที่จะช่วยต่อยอดสู่อนาคตที่พื้นที่ป่าที่ได้รับการฟื้นฟูจะกลายเป็นแหล่งอาหารและรายได้ให้แก่ชุมชน ทีมนักวิจัยได้ให้ความรู้แก่ชุมชนตั้งแต่การผลิตกล้าไม้ การเตรียมพื้นที่ปลูก การปลูกและดูแลแปลง ตลอดจนการป้องกันไฟป่าและการเก็บข้อมูลการรอดชีวิตของต้นกล้า ช่วยให้ชุมชนสามารถฟื้นฟูป่าได้อย่างยั่งยืน สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและเยี่ยมชมเว็บไซต์ของหน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ที่: https://www.forru.org/th
แม้ว่าการฟื้นฟูป่ามักมีอุปสรรคและต้องใช้เวลานาน แต่หากมีการพิจารณาบริบทของแต่ละพื้นที่ เลือกชนิดของพรรณไม้ที่เหมาะสมสำหรับแต่ละพื้นที่ ขนาดและจำนวนต้นไม้ที่ควรปลูก การดูแลแปลงฟื้นฟูอย่างใกล้ชิด การเก็บข้อมูลการรอดและการเติบโตของกล้าไม้ในแปลงฟื้นฟูเพื่อวิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อการฟื้นฟู การดำเนินงานเหล่านี้จะช่วยลดอุปสรรคที่ขัดขวางการฟื้นฟูป่าได้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในพลังจากความตั้งใจของคนนับล้านที่กำลังปลูกต้นไม้พันล้านต้นทั่วโลก เพื่อช่วยฟื้นความหลากหลายทางชีวภาพ และช่วยบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก โดยการลดระดับของแก๊สคาร์บอนไดออกไซค์ในชั้นบรรยากาศ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
IRPC ชูนวัตกรรมขับเคลื่อนองค์กรมุ่งเติบโตอย่างยั่งยืน
IRPC คาดการณ์แนวโน้มความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นช่วงฤดูหนาว เช่นเดียวกับกลุ่มปิโตรเคมีที่ความต้องการปรับตัวดีขึ้นจากการเตรียมผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ช่วงเทศกาลปลายปี
4 CEO ชั้นนำ เปิดแนวคิดฝ่าความท้าทายอนาคตที่ยั่งยืน บนเวที SX2024
ความพยายามของประชาคมโลกที่จะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs 2030 (Sustainable Development Goals) ในอีก 6 ปีข้างหน้า
'เจือ' แนะนายกฯ เร่งปลูกป่าเพิ่ม แก้ต้นเหตุน้ำท่วมใหญ่ภาคเหนือ
'เจือ' เตือนรัฐบาลอย่าแก้ปัญหาน้ำท่วมภาคเหนือที่ปลายเหตุ ฝากนายกฯ เร่งปลูกป่าเพิ่มอย่างจริงจังตั้งแต่วันนี้
ปตท. พร้อมส่งเสริมทักษะนวัตกรรมในชุมชนสู่ความยั่งยืนด้านพลังงานจัดพิธีมอบ ใบประกาศนียบัตร หลักสูตรพลังงานเพื่อชุมชน รุ่นที่ 10
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีปิดและมอบประกาศนียบัตร ผู้สำเร็จหลักสูตรพลังงานเพื่อชุมชน (พพช.)
SX BETTER WORLD "ศิลปะสร้างค่า สู่สมดุลโลก"
SX BETTER WORLD "ศิลปะสร้างค่า สู่สมดุลโลก" โซนนิทรรศการที่จัดแสดงผลงานศิลปะที่หลากหลาย สะท้อนมุมมองด้านความยั่งยืนทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม อาทิ ภาพถ่าย จิตรกรรม ประติมากรรม และผลงานศิลปะอื่น ๆ