มช. เปิดตัวเว็บไซต์ แสดง Dashboard ระบบการเฝ้าระวังโรคที่เป็นผลกระทบจากปัญหาหมอกควัน และการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

 

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.นพ.สุวัฒน์ จริยาเลิศศักดิ์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และหัวหน้าโครงการวิจัย “การพัฒนาระบบเฝ้าระวังโรคอัจฉริยะที่สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในเขตภาคเหนือตอนบน” ที่ได้รับทุนวิจัยสนับสนุนจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)  โดยได้เริ่มดำเนินการพัฒนาร่วมกับ นายแพทย์วรวุฒิ  โฆวัชรกุล ผู้ช่วยนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลสันทราย และ ฝ่ายข้อมูลสารสนเทศของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ในการพัฒนาระบบการเชื่อมต่อข้อมูลสารสนเทศของผู้ป่วยระหว่างเครือข่ายโรงพยาบาลของรัฐในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่กว่า 30 โรงพยาบาล ตั้งแต่กลางปี พ.ศ.2563 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ภายใต้ระบบ IHIMS (Integral Health Information Management System) ซึ่งเป็นโครงการวิจัยพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศขนาดใหญ่ที่จังหวัดเชียงใหม่ได้รับงบวิจัยสนับสนุนจาก วช. เช่นเดียวกัน ทำให้สามารถใช้ประโยชน์ในการส่งต่อข้อมูลของผู้ป่วยโดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ ระหว่างเครือข่ายบริการของโรงพยาบาลในจังหวัดเชียงใหม่ได้ ครบถ้วน รวดเร็ว ถูกต้องและแม่นยำมากกว่าเดิม และยังสามารถใช้ประโยชน์ในการนัดหมายส่งต่อผู้ป่วยเพื่อพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางระหว่างโรงพยาบาลลูกข่ายในอำเภอกับในโรงพยาบาลแม่ข่ายในจังหวัดเชียงใหม่ล่วงหน้าได้โดยผู้ป่วยหรือญาติไม่จำเป็นต้องเดินทางไปโรงพยาบาลใหญ่ด้วยตนเองเพียงเพื่อขอใบนัด พร้อมทั้งสามารถส่งข้อมูลต่าง ๆ ของผู้ป่วยไปทางระบบเครือข่ายสารสนเทศได้ล่วงหน้าโดยไม่ต้องพิมพ์หรือเขียนประวัติผู้ป่วย การรักษาที่ได้รับ ด้วยลายมือลงในกระดาษเพื่อให้ผู้ป่วยถือไปพบแพทย์เหมือนแต่ก่อน โดยมีการสร้างระบบการป้องกันการแทรกแซงอย่างมั่นคง เข้าได้เฉพาะแพทย์หรือบุคลากรที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วยเฉพาะแต่ละรายเท่านั้น

ผลพวงจากการที่มีการเชื่อมต่อข้อมูลการเจ็บป่วยและการวินิจฉัยโรคของผู้รับบริการในเครือข่ายโรงพยาบาลในจังหวัดเชียงใหม่ ได้อย่างทันกาล หรือ Realtime ในปัจจุบัน จึงได้นำมาสู่การใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่หรือ Big Data เพื่อต่อยอดในโครงการวิจัย “การพัฒนาระบบเฝ้าระวังโรคอัจฉริยะที่สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในเขตภาคเหนือตอนบน” ในครั้งนี้ การจัดทำ PHS2C Dashboard Version 1.0 เพื่อเผยแพร่สู่สาธารณะ เป็นการดึงข้อมูลสารสนเทศจากแต่ละโรงพยาบาลในเครือข่ายที่มีการปกปิดข้อมูลที่ระบุตัวบุคคล ได้แก่ ชื่อ นามสกุล เลขประจำตัว 13 หลัก ออกไปก่อน และดึงเอาเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับการวินิจฉัยโรค ลักษณะทางประชากร ที่อยู่เป็นระดับตำบลและอำเภอ ชื่อหน่วยบริการ ประเภทของผู้ป่วยนอกหรือใน วันที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและวันจำหน่ายจากโรงพยาบาล เป็นต้น

โดยเน้นเลือกวิเคราะห์ข้อมูลโรคที่มีความสัมพันธ์หรือเป็นผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในจังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ กลุ่มโรคระบบหัวใจและสมอง หรือโรคอื่น ๆ ที่อาจเกี่ยวข้อง เป็นต้น ทั้งนี้ได้ดึงข้อมูลการวินิจฉัยโรคและข้อมูลตัวแปรสำคัญต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องจากระบบข้อมูลสารสนเทศในโรงพยาบาลเครือข่ายในจังหวัดเชียงใหม่ย้อนหลังได้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2562 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งข้อมูลตัวแปรต่าง ๆ เหล่านี้จะมีการไหลเข้ามาในถังข้อมูลขนาดใหญ่ (Data Lake) แบบอัตโนมัติเป็นรายวัน จึงทำให้ได้ข้อมูลแบบปัจจุบันหรือ Realtime และสามารถมองเห็นการเปลี่ยนแปลงเชิงปริมาณของจำนวนครั้งของผู้เข้ามารับบริการในแต่ละโรงพยาบาล จำแนกเป็นผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน และโรคที่เกี่ยวข้อง ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา และยังสามารถเปรียบเทียบกับระยะเวลาเดียวกันในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาด้วย ซึ่งผู้ป่วยส่วนหนึ่งอาจเป็นผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับปัญหาหมอกควันหรือสิ่งปนเปื้อนต่าง ๆ ในอากาศ ระดับอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลง ระดับความชื้น ทั้งระดับอำเภอและระดับจังหวัด ซึ่งอาจส่งผลให้มีจำนวนครั้งของการเข้ารับบริการของผู้ป่วยโรคเรื้อรังเพิ่มมากขึ้นกว่าช่วงปกติ ทั้งนี้ ฐานข้อมูลสารสนเทศที่วิเคราะห์ทั้งหมดจะเก็บอยู่ใน SERVER ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ที่มีระบบการป้องกันอย่างแน่นหนาที่สุด

การพัฒนาระบบวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อการติดตามสถานการณ์และผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง 608 เป็นการพัฒนาร่วมกันระหว่างสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กับคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยหวังว่าจะพัฒนาเป็นจังหวัดต้นแบบและสามารถนำไปต่อยอดให้เห็นผลกระทบต่อสุขภาพจากปัจจัยต่าง ๆ ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่มีแนวโน้มจะวิกฤตเพิ่มมากขึ้นในอนาคต และสามารถก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนทั้งในระยะสั้นและระยะยาวต่อไป

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

มช. ติดอันดับโลกเพิ่มขึ้นอีก 3 สาขาวิชา รวมเป็น 13 สาขาวิชา มากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของประเทศ

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ติดอันดับโลกในสาขาวิชาเฉพาะ (Narrow Subjects) จำนวน 13 สาขาวิชา จาก 55 สาขาวิชา และสาขาวิชาหลัก (Broad Subjects) ทั้ง 5 สาขาวิชา มากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของประเทศ จากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกรายสาขาวิชา ประจำปี 2024 โดย QS World University Rankings

มช. เปลี่ยนการเผาเป็นพลังงานสะอาด พัฒนาชีวมวลจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ทดแทนการใช้ถ่านหิน ลดมลพิษ เพิ่มโอกาสแก่ชุมชน

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดย คณะวิศวกรรมศาสตร์ เดินทางไปยังอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่เพื่อสาธิตวิธีการใช้เครื่องต้นแบบ Torrefactor และ Pyrolyzer นำทีมโดย ศาสตราจารย์ ดร.นคร ทิพยาวงศ์

เปิดศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวข้าวหรือ “โรงเรียนโรงสีแห่งแรก” ของประเทศไทย

เมื่อวันที่ 26 ก.ย.ที่บริษัท ยนต์ผลดี จำกัด จ.นครสวรรค์ มีพิธีเปิดศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวข้าว มี ดร.วิสูตร จิตสุทธิภากร ตำแหน่ง ประธานกรรมการบริษัท ยนต์ผลดี จำกัด

มช. ร่วมสร้างพื้นที่ปลอดภัย ไร้ฝุ่น PM2.5 ทั้งในรั้วไปจนถึงพื้นที่ห่างไกล พร้อมนำเอานวัตกรรมพัฒนาระบบตรวจวัดคุณภาพอากาศ แจ้งเตือน ป้องกันการเผาแบบ Real time

“PM 2.5” คำยอดฮิตที่หลาย ๆ คนมักได้ยินจากข่าวในช่วงต้นของปีหลังการสิ้นสุดฤดูหนาว และเริ่มเข้าสู่ฤดูร้อน หนึ่งในปัญหาที่พื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยประสบในทุกปี