เริ่มแล้ว ! นักวิจัย มช. กับภารกิจ ไอซ์คิวบ์อัปเกรด (IceCube Upgrade) และโครงการช้างแวน ณ ขั้วโลกใต้ มุ่งพัฒนาความรู้คนไทยไปสู่ระดับโลก

อาจารย์ เรือโท ดร.ชนะ สินทรัพย์วโรดม นักวิจัย มช. คนไทยคนแรกที่ได้รับเลือกไปปฏิบัติงานในพื้นที่  ใจกลางขั้วโลก ทวีปแอนตาร์กติกา ได้เริ่มปฏิบัติภารกิจร่วมกับวิศวกรจากนานาชาติในการเจาะน้ำแข็งเพื่อติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดนิวทริโนใต้แผ่นน้ำแข็งบริเวณขั้วโลกใต้ โดยจะใช้เวลาปฏิบัติงาน ณ ขั้วโลกใต้ประมาณ 2 เดือน ร่วมกับกลุ่มวิจัยนิวทริโนไอซ์คิวบ์ กลุ่มวิจัยชั้นนำของโลก มีนักวิจัยรวมกว่า 350 คน จาก 14 ประเทศ 58 สถาบัน เพื่อทำพันธกิจในโครงการไอซ์คิวบ์อัปเกรด (IceCube Upgrade) เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจจับนิวทริโนพลังงานต่ำที่เข้ามายังโลก นับเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยที่เราได้มีตัวแทนและเป็นนักวิจัยไทยคนแรกของประเทศไทยที่ได้รับการคัดเลือกให้ไปปฏิบัติภารกิจเชิงวิทยาศาสตร์ในครั้งนี้ ตามความร่วมมือนิวทริโนไอซ์คิวบ์และการสำรวจตัดข้ามละติจูดภายใต้พระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี + ภารกิจที่กำลังดำเนินการอยู่

สถานีตรวจวัดนิวทริโนไอซ์คิวบ์ถูกสร้างไว้เพื่อศึกษาอนุภาคนิวทริโนที่เข้ามายังโลกโดยใช้เครื่องตรวจวัดที่เรียกว่า Digital Optical Module หรือเรียกสั้น ๆ ว่า 'DOM' ที่ใช้ในการตรวจจับนิวทริโนผ่านรังสีเชอเรนคอฟ โดยโครงการวิจัยของมช. นี้ ได้เข้าร่วมกับไอซ์คิวบ์ ซึ่งเป็นโครงการเชิงเทคนิคทางวิศวกรรมที่เรียกว่า โครงการไอซ์คิวบ์อัปเกรด (IceCube Upgrade) เป็นการวางแผนจะเพิ่มเส้นลวดตรงบริเวณแกนกลางของสถานีตรวจวัดนิวทริโนไอซ์คิวบ์อีก 7 เส้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจจับนิวทริโนพลังงานต่ำ

สถานีตรวจวัดนิวทริโนไอซ์คิวบ์ ตั้งอยู่ ณ บริเวณขั้วโลกใต้ใจกลางทวีปแอนตาร์กติกา ลึกเข้าไปจากขอบทวีปกว่า 1,000 กิโลเมตร ซึ่งเป็นจุดที่มีละติจูด 90 องศาใต้ มีความสูงประมาณ 2,835 เมตร จากระดับน้ำทะเล (สูงกว่ายอดดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ ราว ๆ 300 เมตร) การเดินทางเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าวหากมิใช่เพื่อการศึกษาวิจัยแล้ว แทบจะไม่สามารถเข้าไปได้เลย เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวนและมีความหนาวเย็นถึง -28 องศาเซลเซียสในช่วงฤดูร้อน และต่ำถึง -60 องศาเซลเซียสในช่วงฤดูหนาว การเดินทางจึงต้องใช้เครื่องบินของกองทัพอากาศสหรัฐที่ดัดแปลงพิเศษในการเข้าพื้นที่ และมีเวลาปฏิบัติงานเพียงประมาณ 4 เดือน ระหว่างเดือนพฤศจิกายน ถึงกุมภาพันธ์ ในช่วงฤดูร้อนของขั้วโลกใต้เท่านั้น

ในปี พ.ศ.2566 ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการส่งนักวิจัยไทยร่วมเดินทางไปปฏิบัติงานในพื้นที่ขั้วโลก ณ ทวีปแอนตาร์กติกา จำนวน 2 ท่าน ได้แก่ เรือโท ดร.ชนะ สินทรัพย์วโรดม อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งได้เดินทางถึงหอสังเกตการณ์นิวทริโนไอซ์คิวป์ เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2566 และได้เริ่มปฏิบัติภารกิจร่วมกับวิศวกรจากนานาชาติในการเจาะน้ำแข็งเพื่อติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดนิวทริโนใต้แผ่นน้ำแข็งบริเวณขั้วโลกใต้ โดยจะใช้เวลาปฏิบัติงาน ณ ขั้วโลกใต้ประมาณ 2 เดือน

และนางสาวอัจฉราภรณ์ ผักหวาน นักวิจัย กลุ่มวิจัยรังสีคอสมิกและอนุภาคพลังงานสูง มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้ร่วมเดินทางกับคณะวิจัยของสถาบันวิจัยขั้วโลกเกาหลีเมื่อวันที่ 27 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยเครื่องตรวจวัดอนุภาคนิวตรอนแบบเคลื่อนที่ “ช้างแวน” ได้ติดตั้ง และเริ่มตรวจวัดอนุภาคนิวตรอนบนเรือตัดน้ำแข็งเอราออนของสาธารณรัฐเกาหลี ออกเดินทางไปยังทวีปแอนตาร์ โดยโครงการนี้ได้รับอนุมัติจากสถาบันวิจัยขั้วโลกเกาหลีให้นำเครื่องตรวจวัดอนุภาคนิวตรอนแบบเคลื่อนที่ มีชื่อเรียกว่า "ช้างแวน" (ChangVan) บรรทุกไปกับเรือตัดน้ำแข็ง "เอราออน" (RV Araon) เดินทางไปเก็บข้อมูลวิจัย ณ ทวีปแอนตาร์กติกา เพื่อศึกษาอัตราการเปลี่ยนแปลงของรังสีคอสมิกในระดับละติจูดต่างๆ ตามเส้นทางจากประเทศนิวซีแลนด์ เขตวิจัยทางทะเลอามันด์เซน (Amundsen Sea Research Area) สถานีวิจัยจางโบโก (Jang Bogo Station) และสิ้นสุดการเดินทาง ณ เมืองกวางยาง สาธารณรัฐเกาหลี

การเดินทางไปปฏิบัติงาน ณ ทวีปแอนตาร์กติกาของ 2 นักวิจัยไทยในครั้งนี้จะนำมาสู่การพัฒนาองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงของประเทศ อาทิ เทคโนโลยีการปฏิบัติงานในพื้นที่สุดขั้ว (Extreme Condition Operation) เทคโนโลยีการขุดเจาะด้วยของไหล (Fluid-Assisted Boring) การศึกษารังสีคอสมิกเพื่อการพยากรณ์สภาวะอาวกาศ (Space Weather Forecasting) การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างวัฎจักรของจุดบนดวงอาทิตย์กับการแผ่รังสีคอสมิกที่เป็นอันตรายต่อโลก นอกจากองค์ความรู้ที่ได้แล้วโครงการดังกล่าวยังเป็นการพัฒนาและเตรียมความพร้อมกำลังคนของประเทศในการก้าวเข้าสู่วิทยาการขั้นสูงเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศต่อไป

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

มช. เปิดตัวเว็บไซต์ แสดง Dashboard ระบบการเฝ้าระวังโรคที่เป็นผลกระทบจากปัญหาหมอกควัน และการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.นพ.สุวัฒน์ จริยาเลิศศักดิ์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และหัวหน้าโครงการวิจัย

มช. เปลี่ยนการเผาเป็นพลังงานสะอาด พัฒนาชีวมวลจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ทดแทนการใช้ถ่านหิน ลดมลพิษ เพิ่มโอกาสแก่ชุมชน

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดย คณะวิศวกรรมศาสตร์ เดินทางไปยังอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่เพื่อสาธิตวิธีการใช้เครื่องต้นแบบ Torrefactor และ Pyrolyzer นำทีมโดย ศาสตราจารย์ ดร.นคร ทิพยาวงศ์

เปิดศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวข้าวหรือ “โรงเรียนโรงสีแห่งแรก” ของประเทศไทย

เมื่อวันที่ 26 ก.ย.ที่บริษัท ยนต์ผลดี จำกัด จ.นครสวรรค์ มีพิธีเปิดศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวข้าว มี ดร.วิสูตร จิตสุทธิภากร ตำแหน่ง ประธานกรรมการบริษัท ยนต์ผลดี จำกัด

มช. ร่วมสร้างพื้นที่ปลอดภัย ไร้ฝุ่น PM2.5 ทั้งในรั้วไปจนถึงพื้นที่ห่างไกล พร้อมนำเอานวัตกรรมพัฒนาระบบตรวจวัดคุณภาพอากาศ แจ้งเตือน ป้องกันการเผาแบบ Real time

“PM 2.5” คำยอดฮิตที่หลาย ๆ คนมักได้ยินจากข่าวในช่วงต้นของปีหลังการสิ้นสุดฤดูหนาว และเริ่มเข้าสู่ฤดูร้อน หนึ่งในปัญหาที่พื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยประสบในทุกปี