เมืองหลวงของอินโดนีเซียกลายเป็นเมืองใหญ่ที่มีมลพิษมากที่สุดในโลก

กรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซีย กลายเป็นเมืองใหญ่ที่มีมลพิษมากที่สุดในโลก จากข้อมูลของบริษัทตรวจสอบคุณภาพอากาศ IQAir หลังติดอันดับโลกเป็นเวลาหลายวัน เนื่องจากทางการไม่สามารถจัดการกับหมอกควันพิษที่พุ่งสูงขึ้นได้

ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม แสดงให้เห็นอาคารต่างๆอยู่ ท่ามกลางหมอกควันที่เกิดจากมลพิษทางอากาศในกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย (Photo by Yasuyoshi CHIBA / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 10 สิงหาคม 2566 กล่าวว่า บริษัทสำรวจและตรวจสอบคุณภาพอากาศไอคิวแอร์ (IQAir) เปิดเผยผลการเก็บข้อมูลล่าสุด และพบว่าปัจจุบันกรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซีย กลายเป็นเมืองใหญ่ที่มีมลพิษมากที่สุดในโลก

จาการ์ตาและบริเวณโดยรอบก่อตัวเป็นมหานครที่มีประชากรประมาณ 30 ล้านคน แซงหน้าเมืองอื่นๆ ที่มีมลพิษอย่างหนัก ทั้งกรุงริยาด (ซาอุดิอาระบีย), กรุงโดฮา (การ์ตา) และลาฮอร์ (ปากีสถาน) เนื่องจากมีความเข้มข้นของฝุ่นพีเอ็ม2.5 (PM2.5) สูงที่สุดตลอดทั้งสัปดาห์

ทั้งนี้ การจัดอันดับข้อมูลมลพิษของบริษัทสัญชาติสวิส เน้นติดตามเฉพาะเมืองใหญ่ ๆ ทุกวัน ตั้งแต่วันจันทร์ของแต่ละสัปดาห์ ตามรายงานของเอเอฟพี

จาการ์ตามักมีสถิติฝุ่น PM2.5 ในระดับที่ "ไม่ดีต่อสุขภาพ" อยู่เป็นประจำ และหลายครั้งเกินระดับที่แนะนำขององค์การอนามัยโลก โดยฝุ่นดังกล่าวสามารถทะลุผ่านทางเดินหายใจและก่อให้เกิดปัญหาระบบทางเดินหายใจ

มลพิษทางอากาศคาดว่าจะมีส่วนทำให้เกิดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรถึง 7 ล้านคนในแต่ละปี และสหประชาชาติถือว่าเป็นหนึ่งในความเสี่ยงด้านสุขภาพที่ร้ายแรงที่สุด

ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า เขาวางแผนที่จะจัดการกับระดับมลพิษโดยการลด "ภาระของจาการ์ตา" ในขณะที่ประเทศเตรียมย้ายเมืองหลวงไปยังนูซันตารา บนเกาะบอร์เนียวในปีหน้า

นอกจากนี้ เขายังกล่าวว่าเครือข่ายรถไฟใต้ดินที่วางแผนไว้ทั่วกรุงจาการ์ตาจำเป็น"ต้องเสร็จสิ้นโดยเร็ว" เพื่อลดมลพิษ

พลเมืองต่างบ่นว่ามลพิษที่เกิดจากหมอกควันอุตสาหกรรม, การจราจรที่ติดขัด และการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าถ่านหินล้วนส่งผลกระทบต่อชีวิตและสุขภาพของพวกเขา

ในปี 2564 ศาลตัดสินลงโทษรัฐบาลตามที่นักเคลื่อนไหวและพลเมืองยื่นฟ้อง และสั่งให้วิโดโดดำเนินการกำจัดมลพิษทางอากาศที่หมักหมมมานานของเมืองหลวง พร้อมชี้ว่าประธานาบดีและเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนอื่นๆ มีความผิดในฐานละเลยการปกป้องประชาชน

อินโดนีเซียให้คำมั่นว่าจะหยุดสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ตั้งแต่ปี 2566 และจะทำให้สภาพอากาศเป็นกลางทางคาร์บอน (สภาวะการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ต่ออากาศโดยรวม) ภายในปี 2593

แม้จะมีเสียงเรียกร้องจากนักเคลื่อนไหว แต่รัฐบาลก็กำลังขยายโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดมหึมาบนเกาะชวา ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

จากข้อมูลของกรีนพีซอินโดนีเซีย โรงไฟฟ้าถ่านหิน 10 แห่งกำลังดำเนินการภายในรัศมี 100 กิโลเมตรจากเมืองหลวง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศและสุขภาพของสิ่งมีชีวิตในระยะยาว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ค่าฝุ่น PM 2.5 เชียงใหม่และภาคเหนือขยับสูงขึ้น ชี้อากาศเริ่มแย่มากขึ้น

ค่าฝุ่น PM 2.5 เชียงใหม่และภาคเหนือขยับสูงขึ้น สั่งจับตาใกล้ชิด อุตุฯแนะงดเผาจัดการเชื้อเพลิงหลังการระบายอากาศเริ่มแย่มากขึ้น

อนุสรณ์ ชี้ฝุ่น PM2.5 กระเทือน ‘ศก.-ท่องเที่ยว’ ชง 14 แนวทางสู้

อนุสรณ์ ประเมินผลกระทบมลพิษทางอากาศ PM2.5 ต่อสุขภาพและเศรษฐกิจรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ รัฐต้องคุ้มครองสิทธิพื้นฐานในการมีอากาศ และสิ่งแวดล้อมที่ดีของประชาชน  เสนอ 14 ข้อเสนอสู้มลพิษทางอากาศ