สหรัฐฯ-อิหร่านปล่อยตัวนักโทษด้วยข้อตกลงแลกเปลี่ยนมูลค่า 6,000 ล้านดอลลาร์

อิหร่านดำเนินการปล่อยตัวผู้ถูกคุมขัง 5 คนในข้อตกลงแลกเปลี่ยนนักโทษกับสหรัฐฯ ซึ่งจะทำให้รัฐบาลเตหะรานสามารถเข้าถึงกองทุนน้ำมันที่ถูกแช่แข็งมานานถึง 6,000 ล้านดอลลาร์ได้อีกครั้ง

พลเมืองสหรัฐฯ ลงจากเครื่องบินเจ็ตของกาตาร์เมื่อมาถึงสนามบินนานาชาติโดฮา เมื่อวันที่ 18 กันยายน หลังได้รับการปล่อยตัวตามข้อตกลงแลกเปลี่ยนระหว่างรัฐบาลสหรัฐฯและอิหร่าน (Photo by Karim JAAFAR / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันอังคารที่ 19 กันยายน 2566 กล่าวว่ารัฐบาลสหรัฐอเมริกาของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ทำข้อตกลงแลกเปลี่ยนตัวนักโทษกับประเทศคู่ขัดแย้งอย่างอิหร่าน ด้วยการยอมถอนอายัดเงินกองทุนน้ำมันที่ถูกแช่แข็งมานานในธนาคารกลางของเกาหลีใต้ จำนวน 6,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 2.14 แสนล้านบาท)

เครื่องบินเจ็ตของกาตาร์นำชาวอเมริกัน 5 คนที่ได้รับการปลดปล่อยจากอิหร่าน รวมถึงนักธุรกิจคนหนึ่งที่ถูกจับกุมในปี 2558 เดินทางถึงกรุงโดฮาก่อนเวลา 17.40 น. (21.40 น. ตามเวลาประเทศไทย) ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากเงินที่ถูกปลดอายัดถูกโอนเข้าบัญชีของรัฐบาลอิหร่านในธนาคารของกาตาร์เรียบร้อยแล้ว

ผู้ถูกปล่อยตัวทั้ง 5 คนได้รับการต้อนรับอย่างดี และต่างยินดีกับอิสรภาพที่ได้คืนมา พร้อมกล่าวชื่นชมประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่เพิกเฉยต่อปฏิกิริยาโต้ตอบทางการเมืองและยอมรับการตัดสินใจที่ยากลำบากในครั้งนี้ เพื่อคืนชีวิตที่ปลอดภัยให้กับพลเมืองอเมริกันอย่างพวกเขาอีกครั้ง

"พวกเราขอขอบคุณประธานาธิบดีไบเดนที่ท้ายที่สุดแล้วทำให้ชีวิตของพลเมืองอเมริกันอยู่เหนือประเด็นทางการเมือง" ผู้ถูกปล่อยตัวรายหนึ่งกล่าวในแถลงการณ์ ก่อนเตรียมเดินทางต่อเพื่อกลับสหรัฐฯ

รัฐบาลวอชิงตันปฏิเสธว่าเงินจำนวน 6,000 ล้านดอลลาร์นี้เป็นค่าไถ่ โดยยืนยันว่าเงินดังกล่าวจะถูกนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ด้านมนุษยธรรม เช่น ซื้ออาหาร, ยา และสินค้าด้านมนุษยธรรมอื่นๆ เท่านั้น และนอกจากถอนอายัดแล้ว ยังมีการปล่อยพลเมืองอิหร่าน 5 คนที่ถูกคุมขังในสหรัฐอเมริกาเป็นการแลกเปลี่ยนด้วยเช่นกัน

แม้ว่าจะมีการทำข้อตกลงดังกล่าว ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและอิหร่านยังคงไม่ได้ดีขึ้นแต่อย่างใด หลังการปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังแล้ว ประธานาบดีไบเดนได้ประกาศคว่ำบาตรรอบใหม่ต่อมาห์มูด อาห์มาดิเนจาด อดีตประธานาธิบดีอิหร่าน กับกระทรวงข่าวกรองอิหร่าน

มาตรการคว่ำบาตรดังกล่าวกำหนดขึ้นจากข้อกล่าวหาว่าบุคคลและหน่วยงานเหล่านั้นเกี่ยวข้องกับการที่บ็อบ เลวินสัน อดีตเจ้าหน้าที่เอฟบีไอ หายตัวไปในอิหร่านอย่างไร้ร่องรอย และถูกสันนิษฐานว่าเสียชีวิตแล้ว

อิหร่านสร้างรายได้ 6,000 ล้านดอลลาร์จากการขายน้ำมันให้เกาหลีใต้ซึ่งต่อมาได้อายัดเงินทุนดังกล่าวตามคำร้องขอจากพันธมิตรอย่างสหรัฐฯ หลังจากอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในขณะนั้น ได้ถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์และบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรอีกครั้งต่อรัฐบาลเตหะราน

ผู้ว่าการธนาคารกลางของอิหร่านกล่าวว่า อิหร่านจะเรียกร้องค่าเสียหายจากเกาหลีใต้เนื่องจากดำเนินการระงับเงินทุนดังกล่าวอย่างผิดกฏหมาย

"เรากำลังยื่นเรื่องร้องเรียนในนามของอิหร่านต่อเกาหลีใต้ที่ไม่ให้สิทธิ์เข้าถึงกองทุนซึ่งเป็นทรัพย์ของเราเอง จนทำให้มูลค่าของกองทุนเกิดความเสียหาย" โมฮัมหมัดเดรซา ฟาร์ซิน ผู้ว่าการธนาคารกลางฯ กล่าวผ่านสถานีโทรทัศน์ของรัฐ และเสริมว่า อิหร่านมีสิทธิ์จะใช้เงินตามความต้องการ ไม่จำเป็นต้องใช้จ่ายด้านมนุษยธรรมตามที่รัฐบาลวอชิงตันกำหนด

ทั้งนี้ โจ ไบเดนก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดี พร้อมความหวังที่จะฟื้นฟูข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2558 ซึ่งอิหร่านสัญญาว่าจะจำกัดการพัฒนานิวเคลียร์เพื่อแลกกับการบรรเทาคว่ำบาตร แต่การเจรจาใช้เวลาหลายเดือนและไม่ประสบผลสำเร็จ

แนวโน้มในการแก้ไขข้อพิพาทชะงักลงอีก หลังเกิดการประท้วงปะทุขึ้นในอิหร่านเมื่อปีที่แล้วจากเหตุเสียชีวิตของมาห์ซา อามินี หญิงชาวอิหร่านซึ่งถูกจับกุมในข้อหาละเมิดกฎเกณฑ์การแต่งกายของผู้หญิงตามหลักศาสนาอิสลาม ทำให้สหรัฐฯออกมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมต่อเจ้าหน้าที่อิหร่านที่ใช้ความรุนแรงและละเมิดสิทธิมนุษยชน

การปล่อยตัวนักโทษเกิดขึ้นเพียงไม่กี่วันหลังครบรอบปีแรกของการเสียชีวิตของเธอ และเป็นช่วงเวลาที่อิบราฮิม ไรซี ประธานาธิบดีอิหร่านคนปัจจุบัน อยู่ในนิวยอร์กเพื่อเข้าร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่ประจำปีของสหประชาชาติ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อีกมุมของ 'โจ ไบเดน' เมื่อพูดถึงความคิดอยากฆ่าตัวตาย และสิ่งที่หยุดเขาไว้

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ต้องประสบกับโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ถึงสองครั้งในชีวิตอันยาวนานของเขา หนึ่งในนั้นทำให้เขาเกือบฆ่าตั