'หมอธีระ' ชี้สายพันธุ์ BA.2 เริ่มอาละวาดหนัก

'หมอธีระ' ยกผลวิจัยองค์การอนามัยโลก ชี้โอมิครอนครองโลกแล้ว ชี้สายพันธุ์ BA.2 เริ่มอาละวาดหนัก พบใน 57 ประเทศทั่วโลก แนะรัฐควรรายงานข้อมูล RT-PCR และ ATK เพื่อให้ ปชช.ทราบสถานการณ์

02 ก.พ.2565 - รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์โควิด-19 ว่าทะลุ 381 ล้านไปแล้ว เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 2,772,231 คน ตายเพิ่ม 10,551 คน รวมแล้วติดไปรวม 381,675,279 คน เสียชีวิตรวม 5,702,904 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ฝรั่งเศส อเมริกา เยอรมัน บราซิล และอินเดีย

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ซึ่งรวมกันคิดเป็นร้อยละ 86.1 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 81.7 ล่าสุดจำนวนติดเชื้อใหม่จากทวีปยุโรปนั้นคิดเป็นร้อยละ 54.7 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 31.84 เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปครอง 6 ใน 10 อันดับแรก และ 10 ใน 20 อันดับแรกของโลก

...ภาพรวมการระบาดของ Omicron จำนวนติดเชื้อเฉลี่ยต่อวันนั้นสูงขึ้นกว่าระลอกก่อนมาก เมื่อวานมีถึง 9 ประเทศ ที่มีการติดเชื้อเพิ่มเกิน 100,000 คนขึ้นไป และมีถึง 40 ประเทศที่เกิน 10,000 คนขึ้นไป
องค์การอนามัยโลกออกรายงาน WHO Weekly Epidemiological Update เมื่อวานนี้ 1 กุมภาพันธ์ 2565 (ภาพที่ 1)

สาระสำคัญมีดังนี้ Omicron ขณะนี้ครองการระบาดทั่วโลก โดยมีสัดส่วนสูงถึง 93% ของการตรวจสายพันธุ์ทั้งหมดในรอบเดือนที่ผ่านมา สายพันธุ์ดั้งเดิมของ Omicron คือ BA.1 และ BA.1.1 นั้นยังเป็นสายพันธุ์หลัก โดยมีสัดส่วน 96% ของทั้งหมด ทั้งนี้สายพันธุ์ที่กลายพันธุ์คือ BA.2 ที่เรียกกันว่า Stealth variant นั้นตรวจพบแล้วทั่วโลกถึง 57 ประเทศ และพบว่าขยายตัวเร็วมากขึ้นหลายประเทศในทวีปยุโรปและเอเชีย ข้อมูลวิชาการปัจจุบันพบว่า BA.2 มีแนวโน้มที่จะแพร่เชื้อไวกว่า BA.1

BA.2 นั้นแตกต่างจาก BA.1 โดยมีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งกรดอะมิโนไปราว 40 ตำแหน่ง (เครดิตภาพ 2-4: Trevor Bedford, FHCRC) หากสังเกตให้ดีจะพบว่า Omicron ทั้ง BA.1 และ BA.2 นั้นแตกต่างจากเดลตาอย่างมากในส่วนของ Receptor binding domain (RBD) แต่หากเทียบระหว่าง BA.1 กับ BA.2 จะมีความคล้ายกันมากในส่วน RBD แต่จะไปแตกต่างกันมากในส่วนปลายคือ Near terminal domain (NTD)

อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องรอผลการศึกษาเกี่ยวกับความรุนแรงของโรค และโอกาสการติดเชื้อซ้ำ รวมถึงการดื้อต่อภูมิคุ้มกัน ว่า BA.2 จะต่างจาก BA.1 มากน้อยเพียงใด แม้ปัจจุบันจะเชื่อว่าน่าจะดื้อต่อภูมิคุ้มกันไม่ต่างกัน

...หากดูภาพความชุกของการระบาดของสายพันธุ์ทั้งเดลตาและ Omicron ประเทศไทยเราสีเข้มมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ หลายประเทศ ตอกย้ำให้เราตระหนักถึงสถานการณ์ระบาดว่ายังรุนแรงต่อเนื่อง ตัวเลขการติดเชื้อยืนยันรายวัน ไม่ได้สะท้อนสถานการณ์จริง เพราะมีคนจำนวนไม่น้อยที่ตรวจ ATK ได้ผลบวก และไม่ได้ตรวจ RT-PCR โดยไม่ได้นำมารวมรายงาน ทั้งๆ ที่แนวทางปัจจุบันได้แนะนำให้คนที่ตรวจ ATK ได้ผลบวกทำการกักตัวและดูแลรักษาตามขั้นตอน ดังนั้นรายงานของทางการแต่ละวันควรทำการรายงานข้อมูลทั้ง RT-PCR และ ATK ให้ครบถ้วน เพื่อที่จะทำให้ประชาชนทราบสถานการณ์ใกล้เคียงมากขึ้น

ใส่หน้ากากนะครับ เว้นระยะห่างจากคนอื่น พบปะคนเท่าที่จำเป็น ใช้เวลาสั้นๆ เลี่ยงการกินดื่มหรือแชร์ของกินของใช้ร่วมกับผู้อื่น หากไม่สบายควรรีบตรวจรักษา ปัญหาในอนาคตที่จะเกิดขึ้นต่อทั้งตัวบุคคล ครอบครัว และระบบสาธารณสุขคือเรื่องภาวะอาการคงค้างระยะยาว หรือ Long COVID ไม่ติดเชื้อย่อมดีที่สุด

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'นิสิตเก่าจุฬาฯ' ตามบี้ 'วิทยานิพนธ์ณัฐพล' อุทธรณ์คำสั่ง ให้จุฬาฯเปิดเผยมติสอบสวน

นางวิรังรอง ทัพพะรังสี ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการปฏิรูปประเทศ ในฐานะนิสิตเก่าคณะรัฐศาสตร์ รุ่น 30 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก

หมอกควันไฟป่าฝุ่น pm2.5 ภาคเหนือพุ่งปรี๊ด! เชียงใหม่ ครองที่ 1 โลกต่อเนื่อง

ปํญหาหมอกควันไฟป่าฝุ่น pm2.5 ภาคเหนือยังพุ่งสูงเป็นสถิติทุกวัน เชียงใหม่ AQI ครองที่ 1 โลกต่อเนื่อง PM2.5 เกินมาตรฐานทุกจุด

อาจารย์หมอ เตือนอากาศร้อนมาก ผู้สูงอายุ-คนมีโรคประจำตัว ระวังการออกนอกบ้าน

คนสูงอายุ และคนที่มีโรคประจำตัว ควรระมัดระวังการออกไปข้างนอกบ้าน  ใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศ  ใช้หมวกหรือร่มบังแดด

'เทพมนตรี' เผยเหตุผู้บริหารจุฬาฯ ไม่กล้าถอดวิทยานิพนธ์-ป.เอก ของณัฐพล ใจจริง

นายเทพมนตรี ลิมปพยอม นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์และนักเทววิทยา โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก กล่าวถึงกรณีสอบสวนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก "การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500)" ของนายณัฐพล ใจจริง จุฬาฯ ว่า