รุกไล่-ถอนรากถอนโคน เครือข่ายเงินสีเทา-หม่อง ชิตตู

การรุกคืบของรัฐบาลที่ ถอนรากถอนโคน เครือข่าย ธุรกิจสีเทา ตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา โดยใช้ไม้หนักมากขึ้นนอกเหนือจาก ตัดไฟ-ตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ต ที่โยงไปถึงฝั่งเมียนมา เป็นเรื่องน่าติดตามอย่างยิ่ง

โดยเฉพาะล่าสุดกับการเปิดศึกไล่เช็กบิล เอาผิดกับกลุ่ม กองกำลังพิทักษ์ชายแดน (Border Guard Force : BGF) ที่มี พันเอกหม่อง ชิตตู เป็นผู้นำ

กับการขยับของกระทรวงยุติธรรม-กรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่มีการส่งตัวแทนไปคุยกับอัยการสำนักงานคดีค้ามนุษย์ สำนักงานอัยการสูงสุด เมื่อช่วงบ่ายวันอังคารที่ 11 ก.พ.ที่ผ่านมา เพื่อหารือในประเด็นข้อกฎหมายการออกหมายจับผู้ต้องหา กลุ่มกองกำลัง BGF ในความผิดเรื่องการค้ามนุษย์ ภายใต้รูปคดีที่จะเอาผิดคือ กลุ่ม BGF มีส่วนเกี่ยวข้องนำชาวอินเดียไปทำการค้ามนุษย์ บังคับทำแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่บ่อนเฮงเชง จ.เมียวดี ประเทศเมียนมา ตรงข้าม อ.แม่สอด จ.ตาก แต่ทางการไทยช่วยกลับมาได้ จึงทำให้ดีเอสไอต้องการดำเนินคดีกับขบวนการค้ามนุษย์บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา ที่โยงถึงกลุ่ม BGF

ข่าวที่ออกมาจากดีเอสไอระบุว่า ผู้เสียหายของขบวนการดังกล่าวเป็นชาวอินเดียทั้งสิ้น 7 ราย โดยประเทศไทยถูกใช้เป็นทางผ่านคล้ายเคสของนักแสดงชายชาวจีน “ซิง ซิง” ก่อนหน้านี้ และเครือข่ายที่ร่วมกันกระทำความผิด ก็มีคนไทยเกี่ยวข้องด้วยประมาณ 2 ราย โดยมีคนไทยอยู่ในบริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งให้บริการจัดทำรีสอร์ตทั้งในไทย แต่ใน จ.เมียวดี มีสถานะเป็นกรรมการบริษัท และพนักงานบริษัท ดังนั้นดีเอสไอจึงต้องการดำเนินคดีและออกหมายจับเครือข่าย BGF 3 ราย ประกอบด้วย 1.พันเอกซอ ชิตตู (Colonel Saw Chit Thu) หรือพันเอกหม่อง ชิตตู 2.พันโทโมเต โธน (Lieutenant Colonel Mote Thone) และ 3.พันตรีทิน วิน Tin Win (Major Tin Win) รวมถึงยังมีในส่วนของเจ้าของบ่อนเฮงเชง

พบว่าการหารือร่วมกันระหว่างดีเอสไอกับอัยการเมื่อ 11 ก.พ.ที่ผ่านมา มีการปิดห้องคุยกันอย่างเคร่งเครียดที่สำนักงานอัยการคดีค้ามนุษย์ 1 สำนักงานอัยการสูงสุด ถนนรัชดาภิเษก ดีเอสไอส่งร้อยตำรวจเอกสุรวุฒิ รังไสย์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมด้วยคณะทำงานได้เข้าหารือกับ ศักดา คล้ายร่มไทร อัยการพิเศษฝ่ายสำนักงานคดีค้ามนุษย์

ผลการหารือหลังใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงเต็ม ร.ต.อ.สุรวุฒิ ระบุว่า เป็นการหารือเกี่ยวกับคดีแก๊งคอลเซ็นเตอร์และขบวนการค้ามนุษย์ โดยได้ข้อแนะนำที่ดีจากอัยการ แต่ในส่วนรายละเอียดถือเป็นความลับ ไม่สามารถเปิดเผยได้ ซึ่งหลังดีเอสไอได้รับคำแนะนำจากอัยการก็จะนำไปดำเนินการตามกระบวนการขั้นตอนทางกฎหมาย ทั้งการสอบสวนเพิ่มเติมตามที่พนักงานอัยการให้คำแนะนำ ก่อนจะนำมาสู่การพิจารณาการขออำนาจศาลออกหมายจับ ส่วนคนที่ถูกดำเนินคดี จะเป็นใคร และมีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องอย่างไร รวมทั้งมีทั้งคนไทยหรือชาวต่างชาติหรือไม่ ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ในขณะนี้ เพราะยังถือเป็นความลับ

แน่นอนว่าเป็นเรื่องดีที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพิ่มดีกรีความเข้มข้นในการปราบปรามธุรกิจ-เงินสีเทา ตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา ดังกล่าว และหลังจากนี้คาดว่า คงมีการขยายผลไปยังพื้นที่ชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ที่เครือข่ายธุรกิจสีเทา ไปตั้งรกรากทำธุรกิจสีเทา โดยเฉพาะแก็งคอลเซ็นเตอร์-ค้ามนุษย์-พนันออนไลน์ ที่ชายแดนไทย-กัมพูชาและลาว โดยหากรัฐบาลเพิ่มยาแรงมากขึ้นในการปราบปรามเครือข่ายเงินสีเทา ย่อมเป็นเรื่องดี ทุกฝ่ายควรสนับสนุนเพื่อให้ปัญหาคอลเซ็นเตอร์-ค้ามนุษย์ และธุรกิจเงินสีเทาต่างๆ บริเวณชายแดนไทยกับเพื่อนบ้านลดน้อยลง

ขณะเดียวกัน ในเชิงการเมืองมีการมองกันว่า การที่รัฐบาลโหมหนักเรื่องนี้ จุดหนึ่งแกนนำรัฐบาลเพื่อไทยคงประเมินแล้วว่า ฝ่ายค้านอาจจะมีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องในเรื่องปัญหาธุรกิจสีเทา บริเวณชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ทำนองว่า ล้มเหลวในการป้องกันและปราบปราม ไม่สามารถสาวไปถึงเครือข่ายเบื้องหลังธุรกิจสีเทาได้ ดังนั้นรัฐบาลก็เลยเร่งสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสอบสวนดำเนินคดีกับเครือข่ายธุรกิจสีเทาตามแนวชายแดน เพื่อว่าหากฝ่ายค้านอภิปรายเรื่องนี้ในสภาฯ ตัวนายกฯ หรือรัฐมนตรีที่ถูกซักฟอกประเด็นนี้จะได้ลุกขึ้นชี้แจง โต้ฝ่ายค้านได้ว่า รัฐบาลเอาจริงเอาจังกับการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ อาชญากรรมข้ามชาติ และทุนสีเทา โดยยกสถิติการจับกุมต่างๆ มาสวนฝ่ายค้าน รวมถึงการยกเรื่องมีการดำเนินคดีกับกลุ่มเครือข่ายที่อยู่เบื้องหลังธุรกิจสีเทาตามแนวชายแดน อย่างกลุ่ม BGF หม่อง ชิตตู มาแสดงต่อที่ประชุมสภาฯ ซึ่งจะทำให้การอภิปรายของฝ่ายค้านที่จะอภิปรายโจมตีรัฐบาลเรื่องนี้ น้ำหนักจะลดลงไปได้

จุดนี้คือสิ่งที่คนการเมือง มองการรุกหนักของรัฐบาลในการขยายผลปราบปรามเครือข่ายธุรกิจสีเทา ที่ตอนนี้รุกไล่ไปถึงกลุ่มกองกำลังต่างชาติบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา อย่างกลุ่มหม่อง ชิตตู  

ก็ขนาดฝ่ายค้านยังออกปากชมการที่ดีเอสไอจะดำเนินคดีกับพันเอกหม่อง ชิตตู อย่าง ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน-ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า ต้องขอบคุณทางรัฐบาล การที่มีการออกหมายจับจะเป็นเกราะป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐของไทยเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง การจับกุมตัวหม่อง ชิตตู เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการ

ส่วน รังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธาน กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐ สภาผู้แทนราษฎร ที่เกาะติด-ติดตามเรื่องนี้มาหลายปี และเป็นคนแรกๆ ที่ออกมาพูดเรื่องธุรกิจสีเทาที่โยงถึง หม่อง ชิตตู ในพื้นที่สาธารณะทางการเมือง  โดยเขามองการขยับของรัฐบาลในประเด็นนี้ว่า หม่อง ชิตตู เป็นกลไกสำคัญในอาชญากรรมข้ามชาติเหล่านี้ เนื่องจากมีทั้งไทยเทา พม่าเทา ไปรับส่วย ไปเกี่ยวข้องเยอะมาก เรื่องการออกหมายจับจะนำไปสู่การจับกุมจริงได้หรือไม่ อยู่ที่ความสามารถของกลไกต่างๆ.... อย่างน้อยมันคือการป้องปรามไม่ให้ไทยเทาไปคุยกับหม่อง ชิตตู ถือว่ามาถูกทาง แต่ก็ต้องเร่งสปีดให้เร็วขึ้น เพราะหม่อง ชิตตู เป็นระดับเฮดเลย ถือว่าถูกตัว เป็นใจกลางสำคัญของเรื่องนี้

ปฏิบัติการรุกคืบ ไล่เช็กบิลเพื่อหวังถอนรากถอนโคนเครือข่ายธุรกิจสีเทาที่อยู่บริเวณแนวชายแดนไทย-เมียนมาดังกล่าว สุดท้ายในทางปฏิบัติจะทำได้จริงหรือไม่ และทำให้เครือข่ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์-ค้ามนุษย์ ที่เป็นอาชญากรรมข้ามชาติ ถูกกวาดล้างปราบปรามจนหมดไปหรือไม่ เรื่องนี้คืออีกหนึ่งบททดสอบการทำงานของรัฐบาลแพทองธาร ว่าจะทำงานใหญ่ๆ ได้สำเร็จลุล่วงหรือไม่?.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิดผลสอบ "แพทยสภา" ฟอกขาวหรือเอาผิด หมอรักษา "ทักษิณ"

ในการลุกขึ้นชี้แจงของ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ต่อที่ประชุมสภาฯ เมื่อวันที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมา ในประเด็นเรื่อง ดีลปีศาจ-การกลับประเทศไทยของทักษิณ ชินวัตร บิดานายกรัฐมนตรี และการเข้ารับการรักษาพยาบาลที่ รพ.ตำรวจ เป็นเวลา 6 เดือน ทำให้นายทักษิณไม่ต้องรับโทษติดคุกแม้แต่วันเดียว

‘อิ๊งค์’สะกดอารมณ์ฝ่าซักฟอก2วัน รอลุ้นคะแนนโหวต-งูเห่าสมทบ!

ผ่านศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 151 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ใช้เวลา 2 วัน 24-25 มีนาคม ก่อนลงมติวันนี้ 26 มีนาคม 2568 ซึ่งลีลาของ “นายกฯ อิ๊งค์” ในการแจงข้อซักฟอกถือว่าสามารถสะกดอารมณ์ได้ดี ไม่ปล่อยหมัดเด็ดตรงๆ ใส่ฝ่ายค้าน แต่ใช้ความนิ่งตอบเจ็บๆ ในบางช่วงเช่นกัน

‘ฝ่ายค้าน’ซักฟอก‘นายกฯอิ๊งค์’ ขยายแผล ปูทาง ยื่น 'ป.ป.ช.'

เปิดฉากกันไปแล้ว ศึกซักฟอก อุ๊งอิ๊ง-น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ภายใต้คอนเซปต์ ‘ดีลแลกประเทศ’ วันแรก ไฮไลต์สำคัญ ช่วงเช้าหนีไม่พ้นการเปิดหัวของ นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และการลุกขึ้นอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งแรกของ บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ

ระเบิดศึกซักฟอก ดีลแลกประเทศ ขยี้"นายกฯอิ๊งค์"ขย้ำ"ทักษิณ"

หลังการเมืองไทยว่างเว้นจากการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจมาร่วม 2 ปีเศษ เพราะการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งล่าสุด เกิดขึ้นเมื่อเดือน ก.ค.2565 ตอนรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มาวันนี้สิ้นสุดการรอคอยกับศึกซักฟอก-เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ

ซักฟอก ‘ดีลแลกประเทศ’ ฟ้องสังคม ‘ชินวัตร’ ได้อะไร

จับตาอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายกฯ แพทองธาร ชินวัตร ระหว่างวันที่ 24-25 มีนาคม ตั้งแต่เช้าจนถึงตี 5 และลงมติในวันที่ 26 หรือ 27 มีนาคมนี้ ภายใต้ธีม

สแกนข้อมูล‘ฝ่ายแค้น’ แตกหักหรือแบล็กเมล

นอกจากบทบาทของพรรคประชาชน (ปชน.) ในการซักฟอกระหว่างวันที่ 23-24 มี.ค. ต่อ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ภายใต้ธีม “ดีลแลกประเทศ” ว่า สุดท้ายจะทำหน้าที่สมศักดิ์ศรีหรือไม่