นักวิชาการเชื่อรายย่อยเร่งฟื้นฟูฟาร์มนำหมูเข้าเลี้ยงเร็วขึ้นหลังรัฐออกมาตรการช่วย

16 ม.ค. 2565 นายสมสมัย หาญเมืองบน นักวิชาการอิสระ เปิดเผยถึงสถานการณ์หมูแพง หมูขาด หมูเป็นโรคระบาด ในไทยว่า ขณะนี้เปรียบเหมือน “ฟ้าหลังฝน” เมื่อภาพเลือนข้างหน้าชัดเจนขึ้น รัฐบาลประกาศมาตรการช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรม เกษตรกรเห็นหลักประกันอนาคตก็พร้อมเริ่มต้นใหม่ด้วยความระมัดระวังกว่าเดิม เริ่มจากเร่งปรับปรุงเล้าหรือโรงเรือนให้ได้มาตรฐานสุขอนามัยที่ดีตามมาตการป้องกันโรคที่ได้รับคำแนะนำจากกรมปศุสัตว์ เตรียมรับลูกหมูล็อตใหม่เข้าเลี้ยงใหม่หลังพักเล้าไปนาน

หลังคณะรัฐมนตรีจะอนุมัติงบประมาณ 574 ล้าน เพื่อเยียวยาเกษตรกรรายย่อยที่ต้องทำลายหมูติดโรค นับเป็นเงินทุนหมุนเวียนก้อนใหม่สำหรับต่อลมหายใจของเกษตรกรที่ต้องแบกภาระขาดทุนสะสมก้อนโตจากโรคระบาด ทำให้หลายรายมีความหวังว่ายิ่งนำหมูเข้าเลี้ยงได้เร็วเท่าไรจะได้ลืมตาอ้าปาก ที่สำคัญช่วยให้คนไทยมีเนื้อหมูเพียงพอในราคาที่เหมาะสมเร็วขึ้น หมูปิ้งจะชิ้นใหญ่ขึ้น หมูกระทะจะกลับมาเปิดให้บริการตามปกติ เพราะเราเชื่อว่า “ไม่มีวิกฤตไหนที่คนไทยไม่ช่วยกัน”

ขณะนี้ทั้งเกษตรกรในพื้นที่ภาคอีสานและภาคเอกชน ร่วมผนึกกำลังกันเป็นพื้นที่นำร่องในการจัดอบรมและส่งเสริมความรู้ด้านมาตรฐานฟาร์ม แนวปฏิบัติที่ดีในการป้องกันโรคและความปลอดภัยทางชีวภาพ (Bioseucrity) เพื่อป้องกันโรคจากภายนอกขณะเดียวกันเป็นการควบคุมไม่ให้โรคแพร่กระจายมาสู่ภายนอก ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรสามารถนำหมูเข้าเลี้ยงได้เร็วขึ้น คาดว่าผลผลิตจะออกสู่ตลาดได้ภายใน 8-12 เดือน ตามเป้าหมายของกรมปศุสัตว์ อย่างไรก็ตาม มาตรการเยียวยาของภาครัฐทั้งเงินชดเชย สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ วัคซีนที่มีประสิทธิภาพ อาหารสัตว์ ต้องจัดเต็มทั้งปริมาณและคุณภาพในราคาที่เหมาะสม เพื่อให้การผลิตครั้งใหม่มีมาตรการเฝ้าระวังโรคที่แม่นยำ และมีประสิทธิภาพในการป้องกันและควบคุมโรค

สถานการณ์สร้างการเปลี่ยนแปลงผู้เลี้ยงหมูสู่ “วิถีใหม่” หลังประสบปัญหาโรคหมูรุมเร้าในช่วงที่ผ่านมา การทำฟาร์มมาตรฐานแทนการเลี้ยงแบบดั้งเดิมจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง โดยกรมปศุสัตว์ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ลงตรวจสอบพื้นที่และให้ความรู้ คำแนะนำกับเกษตรกรในการปรับปรุงโรงเรือนให้ได้มาตรฐานเพื่อการป้องกันโรคสูงสุดและเรียนรู้ในการควบคุมโรคให้อยู่ในวงจำกัด พร้อมรับมือกับสถานการณ์ในอนาคต

เช่นเดียวกับ สินธุ ปัญญาศักดิ์ สมาชิกผู้เลี้ยงสุกรเชียงใหม่-ลำพูน อ.เมือง จังหวัดลำพูน กล่าวว่า เกษตรกรรายย่อยในหลายพื้นที่ทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลาง อยู่ระหว่างการฟื้นฟูฟาร์มเตรียมต้อนรับลูกหมูเข้าเลี้ยงรอบใหม่ สมาชิกผู้เลี้ยงสุกรเชียงใหม่-ลำพูน อ.เมือง จังหวัดลำพูน กล่าวว่า ขณะนี้เกษตรกรรายย่อยหลายรายทางภาคเหนือที่จังหวัดเชียงใหม่และลำพูน มีความพร้อมมากที่จะเริ่มต้นใหม่ แต่ละคนมุ่งมั่นปรับปรุงฟาร์มตามหลักวิชาการ มีระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (Good Farming Management : GFM) ระบบการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างเกราะป้องกันโรค ลดความเสี่ยงและการสูญเสียไม่ให้หวนกลับมาอีก และพร้อมเป็นกำลังสำคัญในการผลิตเนื้อหมูคุณภาพดีให้คนไทยมีอาหารปลอดภัยบริโภคอย่างเพียงพอ

“แทนที่เราจะมีนั่งโทษฟ้าโทษฝนกับสิ่งที่ผ่านไปแล้วมันไม่เกิดประโยชน์อะไร โรคระบาดสัตว์มันเกิดทั่วไปหมด ต้นตอก็ไม่ได้เกิดจากเราแต่มันกระจายเข้ามา ชีวิตมันต้องเดินต่อไป ตอนนี้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องหันหน้าเขาหากันแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ฉุดเกษตกรเลี้ยงหมูที่ล้มให้ลุกขึ้นยืน ร่วมแก้ปัญหาหมูแพง หมูขาดให้เร็วที่สุด” สินธุ กล่าว

ด้าน น.สพ.วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ คาดการณ์ว่าเกษตรกรจะกลับมาเลี้ยงสุกรในปี 2565 ใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 หลังจากที่คนเลี้ยงตัดสินใจชะลอการเลี้ยงหรือเข้าเลี้ยงสุกรบางลงไม่เต็มการผลิตของฟาร์ม เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงทั้งจากภาวะโรค รวมถึงรอดูสถานการณ์โรคโควิด-19 โดยเชื่อว่าต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 ปีที่ภาคอุตสาหกรรมการเลี้ยงหมูจะกลับมาเป็นปกติ และผู้เลี้ยงกลับมาเลี้ยงหมูได้ 100%

“หลังไทยประกาศเขตโรคระบาดอย่างเป็นทางการแล้ว มาตรการที่ต้องเดินหน้าต่อคือเรื่องการฟื้นฟูอุตสาหกรรมเลี้ยงสุกรให้เข้มแข็งเหมือนเดิม ต้องให้ความรู้ทั้งเกษตรกรในการป้องกันโรคขณะเดียวกันต้องให้ความรู้ผู้บริโภคว่าโรคนี้ไม่ติดคน เนื้อหมูปรุงสุกกินได้ เพื่อให้ผลผลิตรอบใหม่มีตลาดรองรับ ให้กลไกการตลาดกลับมาทำงานได้เหมือนเดิม” น.สพ.วิวัฒน์ กล่าว

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมงานวิจัยโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever : ASF) โดยมีคณะกรรมการจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สมาคม และคณะสัตวแพทยศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อระดมสมองหาแนวทางการป้องกันและควบคุมโรค ASF อย่างมีประสิทธิภาพและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ ตลอดจนการพัฒนาวัคซีน ASF ในสุกรต้นแบบ ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรในประเทศไทย รวมถึงใช้เป็นต้นแบบให้แก่เกษตรกรในประเทศแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้อีกด้วย./

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สุดชุ่ย! ฟาร์มเลี้ยงหมูวิทยาลัยเกษตรฯ ปล่อยน้ำขี้หมูลงลำคลองสาธารณะ

ชาวบ้านพังงา สุดจะทน โวยฟาร์มเลี้ยงหมูศึกษาของมหาวิทยาลัย ไร้มาตรฐาน ปล่อยสิ่งปฏิกูลไหลลงลำคลองสาธารณะ สร้างความเดือดร้อนทั้งหมู่บ้าน

ไทยสร้างไทย พบนายทุนใหญ่ผูกขาดอาหารเลี้ยงสัตว์ ทำต้นทุนแพงหมูเถื่อนทะลัก

ในการหารือกับผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยพบว่า ต้นทุนของผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย ในประเทศไทยไม่สามารถแข่งขันกับผู้เลี้ยงสุกร จากต่างประเทศได้ โดยเฉพาะราคาหัวอาหารที่แตกต่างกันมาก

เชียงใหม่วุ่น! คันดินแตกขี้หมูทะลักเข้าแหล่งผลิตน้ำประปา

เกิดคันดินบ่อเกรอะฟาร์มหมู ในพื้นที่ ต.แม่แตง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ทรุดตัวหลังฝนตกหนักตลอดสัปดาห์ ส่งผลให้น้ำที่ผสมกับของเสียของสุกรในฟาร์ม ไหลทะลักท่วมสวนเกษตร

ศึกษาปัญหาหมูแพงจนรากงอก! กมธ.ขอต่ออายุอีก 3 เดือน

กมธ.แก้ปัญหาหมูมีมติต่ออายุศึกษาราคาหมูเพิ่ม 3 เดือน ฟุ้งลงพื้นที่ส่องโรงงานเชือดหมู-ห้องเย็น-โรงงานอาหารสัตว์ หาสาเหตุหมูแพง พร้อมแก้สูตรลดราคาอาหารหมู