วิจัยพบ'สารไซโตไคน์' บ่งชี้ 'ข้อเสื่อม' วิตามินดี+วิตามินอี ตัวช่วยลดอักเสบ

โรคข้อเสื่อมเป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุขในประเทศไทยและทั่วโลกส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของ ผู้สูงวัยซึ่งมักป่วยเป็นโรคนี้ ยิ่งปัจจุบันคนไทยอายุยืนขึ้น ก็ยิ่งจะมีผู้ป่วยโรคนี้เพิ่มขึ้นด้วย โรคนี้รักษาไม่หายขาด แต่หากสามารถทำนายแนวโน้มความรุนแรงของโรคได้ก็จะทำให้เราหา ทางลดหรือชะลอความรุนแรงของโรคได้” ศ.นพ.สิทธิศักดิ์ หรรษาเวก ภาควิชาชีวเคมี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวถึงที่มาในการริเริ่มโครงการวิจัย“ไซโตไคน์และสารชีวเคมีเพื่อเป็นตัวบ่งชี้และเป้าหมายในการรักษาโรคข้อเสื่อม”ซึ่งได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่นของบุคลากรจุฬาฯสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ ประจำปี 2564

กว่า 10 ปีในการวิจัย ศ.นพ.สิทธิศักดิ์ และทีมงาน เพื่อทำความเข้าใจสาเหตุของโรคข้อเสื่อม กลไกการเกิดโรคและตัวบ่งชี้ความรุนแรงของโรค เพื่อกำหนดแนวทางการติดตาม ป้องกันและบรรเทาความรุนแรงของโรคซึ่งจะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยไซโตไคน์และกลไกการเกิดโรคข้อเสื่อม  จากการศึกษาพบว่าสารไซโตไคน์บางตัวมีส่วนทำให้เกิดโรคข้อเสื่อมและการดำเนินโรครุนแรงขึ้น


 ไซโตไคน์คืออะไร ศ.นพ.สิทธิศักดิ์อธิบายว่า คือสารในกลุ่มโปรตีนที่หลั่งออกมาจากเซลล์ที่อักเสบภายในข้อ ไซโตไคน์และสารชีวเคมี จะกระตุ้นให้เซลล์กระดูกอ่อนหลั่งสารอื่นๆออกมา เช่น สารช่วยในการสร้างและสลายกระดูกอ่อน  การมีสารไซโตไคน์ที่ไม่สมดุลจะกระตุ้นให้เกิดการสลายตัวของกระดูกอ่อนให้เสื่อมสภาพเร็ว ทำให้ข้อเสื่อมได้มากขึ้น การค้นพบกลไกนี้  สามารถนำไปประยุกต์ใช้พัฒนาตรวจติดตามผู้ป่วยได้ว่าในอนาคตมีโอกาสเป็นโรคข้อเสื่อมที่รุนแรงมากขึ้นหรือไม่ ตลอดจนหาวิธีการลดหรือยับยั้งสารไซโตไคน์ที่เป็นสาเหตุของโรคข้อเสื่อมได้  ซึ่งในปัจจุบันการตรวจวัดระดับสารไซโตไคน์จะทำภายหลังผู้ป่วยเข้ารับการผ่าตัดข้อเสื่อมแล้ว ถ้าระดับไซโตไคน์สูงมากบ่งชี้ได้ว่าอาจมีการติดเชื้อหลังผ่าตัด  ดังนั้นจำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะจนกว่าระดับไซโตไคน์จะลดลงมาเป็นปกติ

โรคข้อเสื่อมสาเหตุสำคัญเกิดจาก คุณภาพของกระดูกอ่อนในข้อต่อที่เสื่อมลงตามวัย เกิดได้ในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป และจะปรากฏชัดในผู้มีอายุ60 ปีขึ้นไป ยิ่งอายุมากขึ้น โอกาสพบโรคข้อเสื่อมก็มากขึ้น ซึ่งสถิติที่ผ่านมาพบว่ามากกว่าร้อยละ 50 ของผู้ที่อายุ 70 ปีขึ้นไป เป็นโรคข้อเสื่อม

“ข้อต่อของอวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกายจะมีกระดูกสองชิ้นประกอบกันคือกระดูกแข็ง และกระดูกอ่อนหุ้มข้อ เมื่อคนเราอายุมากขึ้นการสร้างกระดูกอ่อนมีคุณภาพลดลง ส่งผลให้การทำงานของกระดูกอ่อนเสียไปร่างกายจะกระตุ้นให้เซลล์กระดูกอ่อนผลิตสารไซโตไคน์ออกมา  ก่อให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อรอบข้อ เอ็น และกล้ามเนื้อ และส่วนที่ข้อเสื่อมมากที่สุดคือข้อเข่ารองลงมาคือข้อสะโพกและข้อนิ้วมือ”

Osteoarthritis (OA) knee . film x-ray AP ( anterior – posterior ) and lateral view of knee show narrow joint space, osteophyte ( spur ), subchondral sclerosis, knee joint inflammation

นอกจากอายุแล้ว ผู้หญิงมีโอกาสเป็นโรคข้อเสื่อมมากกว่าผู้ชาย 2 – 3เท่า เนื่องจากผู้หญิงเมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน ฮอร์โมนในร่างกายที่กระตุ้นเซลล์ต่างๆ จะลดลงส่งผลต่อคุณภาพของกระดูกอ่อน และที่สำคัญคือ อน้ำหนักตัว ที่มีส่วนทำให้โรคข้อเสื่อมรุนแรงมากขึ้น  
อาการของโรคข้อเสื่อม แตกต่างกันและขึ้นกับระยะเวลา  ระยะแรก ปวดตามข้อเวลาเดิน ยืนหรือขึ้นลงบันได จากนั้นจะเริ่มมีอาการข้อฝืด มีเสียงดัง เดินไปนั่งพักไป  หากเสื่อมระยะรุนแรง  มักปวดบวมในข้อและเกิดการอักเสบ งอ-เหยียดข้อได้ไม่เต็มที่ ในรายที่เป็นมากข้อจะบิดเบี้ยว เข่าโก่ง นิ้วมือเก เมื่อเอกซเรย์จะพบว่ามีการสร้างกระดูกงอกบริเวณข้อไปทิ่มเนื้อเยื่อในข้อเข่า ทำให้มีอาการอักเสบและเจ็บบริเวณข้อเข่า

“โรคนี้ไม่ถึงกับทำให้เสียชีวิตแต่ทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ คุณภาพชีวิตแย่ลง ผู้ที่ป่วยโรคนี้มานาน กล้ามเนื้ออาจจะลีบได้ เนื่องจากไม่ได้ใช้งานและร้อยละ 50 ของผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อม มีโอกาสที่ข้อเข่าจะเสื่อมทั้งสองข้างได้ การรักษาเป็นแล้วไม่หายขาด แต่ก็มีวิธีที่จะดูแลให้มีคุณภาพชีวิตและลดอาการเจ็บปวดได้ศ.นพ.สิทธิศักดิ์ กล่าว


ปัจจุบันมี 3  แนวทางการรักษา  ตามระดับความรุนแรงของโรค เริ่มจากไม่ใช้ยา ใช้ยาและการผ่าตัด ซึ่งเป็นทางเลือกสุดท้าย การรักษาโดยไม่ใช้ยา ผู้ป่วยโรคข้อเสื่อมร้อยละ 80 มักมีน้ำหนักเกิน ดังนั้นการควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสม เพื่อช่วยลดแรงกระทำต่อข้อ  นอกจากนี้  ควรบริหารกล้ามเนื้อรอบข้อเข่า ด้วยการเหยียดขา 10 วินาทีแล้วเอาลงทำวันละ 20 รอบๆ ละ 20 ครั้ง ใข้ปลอกหุ้มข้อหรือไม้เท้าช่วยพยุง  การรักษาโดยใช้ยา เช่น ยาบรรเทาปวด ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาลดอาการอักเสบ  การฉีดน้ำไขข้อเทียม การฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้นของผู้ป่วยเข้าไปในข้อ ลดการอักเสบ ทำให้ผู้ที่มีภาวะข้อเข้าเสื่อมในระยะแรกๆ มีอาการดีขึ้น


หรือหากมีอาการปวด ระยะ 24  ชั่วโมงแรก ประคบเย็น เมื่ออาการดีขึ้นควรประคบอุ่น เพื่อทำให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น และคลายกล้ามเนื้อ   หรือใช้การฝังเข็ม การอัลตราซาวนด์คลื่นเสียง บรรเทาอาการเจ็บปวด  ส่วนการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง เช่น ข้อผิดรูป มีอาการเจ็บปวดมาก  การผ่าตัดมีหลายรูปแบบ เช่น การผ่าตัดโดยวิธีส่องกล้อง เพื่อล้างข้อเอาเศษกระดูกที่แตก หรือหลุดภายในข้อออก  การผ่าตัดแก้ไขเปลี่ยนแนวกระดูกข้อ ที่ผิดรูปให้ตรง  และวิธีสุดท้ายคือการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ซึ่งจะช่วยให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยดีขึ้น

ศ.นพ.สิทธิศักดิ์กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการวิจัยนี้ยังได้ศึกษาถึงประสิทธิภาพของการเสริมวิตามินดี 2 ในผู้ป่วยโรคข้อเสื่อมจำนวน 200รายที่มารักษาที่แผนกกระดูกและข้อ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์โดยให้ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปและมีผลการตรวจวัดวิตามินดีในร่างกายต่ำกว่า 30นาโนกรัมต่อมิลลิลิตรให้รับประทานวิตามินดี 2 (Ergocalciferol ขนาด20,000 unit/เม็ด) สัปดาห์ละ 2 เม็ด เป็นเวลา 6 เดือน“วิตามินดี 2 ช่วยกระตุ้นการสร้างกระดูกช่วยในการก่อตัวของแร่ธาตุ แคลเซียม แมกนีเซียม ฟอสเฟตที่กระดูกวิตามินดียังทำงานร่วมกับพาราไทรอยด์ฮอร์โมน เพื่อช่วยดูดซึมแคลเซียมที่ลำไส้ และกระตุ้นการ ดูดกลับของแคลเซียมที่ไตทำให้ระดับแคลเซียมในเลือดสูงขึ้นจึงช่วยในการสร้างกระดูกให้แข็งแรงขึ้น นอกจากนี้วิตามินดียังช่วยให้สมรรถภาพของกล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้นสามารถทำงานได้ดีขึ้น


กลุ่มทีมผู้วิจัยยังได้ศึกษาวิจัยการใช้วิตามินอีเสริมให้กับกลุ่มผู้ป่วยโรคข้อเสื่อมด้วย โดยให้ผู้ป่วยรับประทานวิตามินอีเป็นเวลา 2 เดือน เพราะวิตามินอีมีส่วนช่วยลดสารอนุมูลอิสระในร่างกาย ซึ่งในการวิจัยพบว่าวิตามินอีทำให้อาการเจ็บปวดข้อลดลง การใช้งานของข้อดีขึ้น ส่วนปริมาณวิตามินดีที่แนะนำคือ 400 – 600 IU/วัน สำหรับวิตามินอีแนะนำปริมาณ 40 – 200IU/วัน ทั้งนี้ปริมาณที่แนะนำจะแตกต่างกันตามวัยและภาวะร่างกายของแต่ละบุคคล ดังนั้น การเสริมวิตามินดี หรือวิตามินอี ควรอยู่ภายใต้การดูแลและคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกร

Osteoarthritis of the knee. Editable vector illustration in detailed realistic style isolated on a light green background. Medical, healthcare and physiology concept. Scientific infographic.


ใครบ้างควรได้รับการเสริมวิตามินดี? 1. ผู้ที่เสี่ยงต่อการขาดวิตามินดี เช่น ผู้สูงอายุ สตรีตั้งครรภ์2. ผู้ป่วยโรคกระดูกบาง กระดูกพรุน3. ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง4.ผู้ป่วยโรคลำไส้บางชนิดที่ส่งผลให้การดูดซึมวิตามินดีทางลำไส้บกพร่อง5. ผู้ที่มีความบกพร่องในการย่อยสลายและดูดซึมไขมัน(เนื่องจากวิตามินดีละลายได้ในไขมัน) ทำให้ดูดซึมวิตามินดีได้ลดลงเป็นต้น

ผู้ที่มีปัญหาโรคข้อเสื่อม ติดต่อฝ่ายออร์โธปิดิกส์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ชั้น 5 อาคาร ภปร โทร. 0-2256-5351เพื่อนัดหมายแพทย์ในเวลาราชการและนอกเวลาราชการ (คลินิกโรคกระดูกและข้อ) หรือติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ http://ortho.md.chula.ac.th

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘หมอธีระวัฒน์’ เตือน กินดิบ...แซ่บแล้วตาย เลิกได้มั้ย?

ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ เตือนหยุดกินดิบ ประหยัดเงินชาติได้เป็นหมื่นๆล้าน กินสุก ถูกวิธี ยังแซ่บได้ แถมรอดตายอีกต่างหาก

'หมอธีระ' ยกวิจัยนอร์เวย์ติดโควิดสายพันธุ์ไหนก็มีโอกาสเจอ Long COVID

'หมอธีระ' เผยข้อมูลล่าสุดจากองค์การอนามัยโลก โอมิครอนยึดโลกแล้ว 99.9% สายพันธุ์ BA.5 มากสุด ผลวิจัยนอร์เวย์ชี้ไม่ว่าติดจากสายพันธุ์ไหนมีโอกาสเจอ Long COVID แน่