'เทพไท' ประชด! ตีความวาระ 'ปธ.ศาลรัฐธรรมนูญ' ใช้แบบศรีธนญชัยตามต้องการเลย

20 มี.ค.2565-นายเทพไท เสนพงศ์ อดีตส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า ผมเห็นข่าวการตีความ เรื่องวาระการดำรงตำแหน่งของประธานศาลรัฐธรรมนูญ โดยการนำเอาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญปี 2550 และปี 2560 มาพิจารณาถึงวาระการสิ้นสุด ของการดำรงตำแหน่งของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไว้ดังนี้ กล่าวคือ รัฐธรรมนูญปี 2550 บัญญัติให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญดำรงตำแหน่งได้วาระ 9 ปี และพ้นตำแหน่งเมื่ออายุครบ 70 ปี ส่วนรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 207 และมาตรา 208(4) มีบทบัญญัติให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญดำรงตำแหน่งได้วาระ 7 ปี และการพ้นตำแหน่งเมื่ออายุครบ 75 ปี

ในฐานะที่เป็นนักกฎหมายคนหนึ่ง ที่เคยถูกคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญให้พ้นจากตำแหน่ง ส.ส.มาแล้ว มีความเคารพในคำวินิจฉัยทุกประการ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรอิสระ  มีหน้าที่วินิจฉัยข้อแย้งของกฎหมาย และผลของคำวินิจฉัยย่อมมีความผูกพันกับทุกองค์กร แต่ที่น่าประหลาดใจก็คือ ทำไมศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ ไม่สามารถวินิจฉัยปัญหาการดำรงตำแหน่งของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเองได้ ทั้งที่มีความชัดเจนในข้อกฎหมายตามรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว โดยไม่ต้องตีความใดๆ เว้นแต่จะมีการตะแบง หรือเลี่ยงบาลี ต้องการตีความแบบศรีธนญชัย

ส่วนตัวอยากจะขอแนะนำประเด็นข้อกฎหมาย  เพื่อให้ตีการตีความบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ เป็นคุณต่อการดำรงตำแหน่งของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามที่ต้องการ ขอเสนอให้ยึดเอาหลักของการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 สูตรไขว้ นั่นก็คือนำเอาประเด็นบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่เป็นคุณ ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ในประเด็นการดำรงตำแหน่งไม่เกิน 9 ปี และตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ในประเด็นการดำรงตำแหน่งอายุไม่เกิน 75 ปี นำมาประกอบการตีความ ก็จะทำให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญ สามารถดำรงตำแหน่งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามต้องการได้ กล่าวคือ ยังดำรงตำแหน่งไม่ครบ9ปี (ตามรัฐธรรมนูญปี2550) และอายุยังไม่เกิน75ปี (ตามรัฐธรรมนูญปี2560) ซึ่งผลของการตีความการดำรงตำแหน่งของตุลาการศาลธรรมนูญในครั้งนี้ จะเป็นบรรทัดฐาน สามารถ ไปเทียบเคียงกับการตีความในประเด็น การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ครบวาระ 8 ปีในโอกาสต่อไปได้

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ศาลรธน. ไม่รับคำร้องขอวินิจฉัยอำนาจสภาฯแก้รัฐธรรมนูญ

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่รับคำร้องของประธานรัฐสภาที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับอำนาจและหน้าที่ของรัฐสภา ในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญมาตรา 256