ลัดเลาะเมืองตราด ตามรอยประวัติศาสตร์ ชมลานตะบูน 100 ปี

พายซัพ-ล่องเรือ ที่ชุมชนท่าระแนะ

เมืองตราดมากี่ครั้งก็ยังประทับใจ เพราะนอกจากจะมีทะเลสวยแล้ว ทั้งเกาะช้าง เกาะหมาก  เกาะกระดาด เกาะกูด ในตัวเมืองยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ โดยเฉพาะเรื่องราวของประวัติศาสตร์เมืองตราด ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ได้พาเรามาลัดเลาะย่านในเมือง สัมผัสเรื่องราวประวัติศาสตร์ ความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่ทอดแทรกอยู่ในสถานที่สำคัญ พร้อมดื่มด่ำกับธรรมชาติของป่าชายเลนอันอุดมสมบูรณ์

หลังจากเที่ยวเกาะหมากจนหนำใจก็ขึ้นฝั่งมายลเสน่ห์ในเมืองตราดกันบ้าง ครั้งนี้ขอเริ่มต้นทริปด้วยยามเย็นพาไปชิวๆ กันที่ชุมชนท่าระแนะ ต.หนองคันทรง แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติป่าชายเลนอันอุดมสมบูรณ์ มีเนื้อที่ราวๆ 2,000 ไร่ ที่นี่ขึ้นชื่อเรื่องความสวยงามของรากตะบูนที่คาดว่ามีอายุกว่า 100 ปี ด้วยความหลากหลายทางธรรมชาติ วิถีชีวิตของชาวบ้านนิยมทำเกษตร บ้างก็ทำประมง และรวมตัวกันพัฒนาดูแลป่าชายเลนแห่งนี้ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว เราไม่รีรอร่วมทำกิจกรรมนั่งเรือชมป่าชายเลน  หากใครชื่นชอบการพายซัพก็มีนะ  ได้ออกกำลังแขนกำลังขาท่ามกลางธรรมชาติ ใช้เวลาไปกลับประมาณ 2 ชั่วโมง

ลานตะบูน

เรือแล่นเข้ามาถึงจุดไฮไลท์ของที่นี่ คือ ลานตะบูน เกิดจากต้นตะบูนต้นใหญ่ที่ขึ้นห่างกันทำให้รากได้แผ่ขยายถักทอพันกันเป็นแผ่น กลายเป็นลานตะบูน จนสามารถลงไปเดินได้ แต่ต้องระวังหน่อยนึง เพราะรากค่อนข้างแข็งและยังมีร่องเล็กๆระหว่างราก ที่อาจจะทำให้ข้อเท้าพลิกได้ กลับเข้าท่า ทานอาหารพื้นเมืองให้อิ่มพักผ่อนเตรียมลุยวันถัดไป

 พระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 5

หมุดหมายของเช้าอีกวัน คือ พระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 5 ตั้งอยู่ด้านหน้าศาลากลางจังหวัด โดยชาวจ.ตราดให้ความเคารพนับถือพระองค์อย่างมาก  จากเหตุการณ์อดีตเมื่อปี พ.ศ.2448  ไทยนำเมืองตราดคืนมาจากการยึดครองจากฝรั่งเศส โดยแลกกับเมืองพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ เมืองตราดยังเป็นเมืองที่ ร.5 เสด็จประพาสบ่อยครั้งอีกด้วย

ศาลากลางหลังคาทรงปั้นหยาในสมัยร.4 ปัจจุบันคือพิพิธภัณฑสถานเมืองตราดจังหวัดตราด

ห่างกันไม่ไกล เดินข้ามถนนไปอีกฝากไปชมความเป็นมาของจ.ตราดใน พิพิธภัณฑ์สถานเมืองตราด ซึ่งเดิมเคยเป็นศาลากลางจังหวัด  ที่มีสถาปัตยกรรมสวยงาม หลังคาทรงปั้นหยาเด่นตระหง่านท่ามกลางตึกทันสมัย เป็นสถาปัตยกรรมในช่วงสมัยรัชกาลที่ 6 สร้างเป็นเรือนไม้สักทอง เสาปูน ยกพื้นใต้ถุนสูง ซึ่งกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนให้เป็นโบราณสถานในปี 2539 ต่อมาปี พ.ศ. 2547 อาคารหลังนี้ถูกไฟไหม้เสียหายเกือบทั้งหมด จึงได้มีการบูรณะอาคารตามรูปแบบเดิมโดยใช้ไม้มะค่าและไม้ประดูจากประเทศลาวแทนไม้สักทองที่เสียหาย

ผู้เข้าชมรับชมวิดีทัศน์เหตุการณ์ รศ.112

ส่วนด้านในพิพิธภัณฑ์ บอกเล่าความเป็นมาของจ.ตราด แบ่งเป็น 6 โซน ได้แก่ 1.มรดกธรรมชาติและวัฒนธรรมเมืองตราด จัดแสดงเรื่องภูมิศาสตร์ โดยตราดมีพื้นที่ราวๆกว่า 2,000 ตารางกิโลเมตร ภูมิอากาศ ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรม พันธุ์ผลไม้อาทิ สับปะรดตราดสีทอง ระกำ กล้วยไข่โบราณ โซนนี้ยังมีวิดีทัศน์เกี่ยวกับเหตุการณ์เรือรบระหว่างไทยกับฝรั่งเศสให้ชมเป็นน้ำจิ้มด้วย รวมไปถึงแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ อาทิ วัดบุปผาราม ศาลหลักเมือง 2.ผู้คนเมืองตราด จัดแสดงกลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดตราด เพราะเป็นเมืองท่าในการค้าขายที่สำคัญ จึงทำให้มีความหลากหลายทั้ง ไทย จีน เขมร ญวน ชอง

กลองมโหระทึก โบราณวัตถุชิ้นสำคัญ

ถัดไปโซนที่ 3.ลำดับทางโบราณคดีและประวัติเมืองตราด จัดแสดงเรื่องราวของจังหวัดตราดตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ต้นสมัยประวัติศาสตร์ สุโขทัย อยุธยา รัตนโกสินทร์(สมัยรัชกาลที่ 1-4) ที่มีหลักฐานทางโบราณคดี เช่น ภาชนะดินเผา เครื่องมือหิน ชิ้นสำคัญคือ กลองมโหระทึก จำนวน 3 ใบ ซึ่งสันนิษฐานว่าใช้ตีในพีธีกรรมการบูชาตามตวามเชื่อ ด้านในกลองพบเครื่องมือโลหะ เศษภาชนะดินเผา ชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์ ลูกปัดสี เป็นต้น 4.เหตุการณ์สำคัญในสมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดแสดงเรื่องราวการส่งมอบเมืองตราดคืนจากฝรั่งเศส และเราได้เห็นพระแสงราชศัสตราประจำเมืองตราดองค์จำลองที่ได้พระราชทาน ในวันที่ 6 กรกฎาคม 2450 ซึ่งเป็นองค์ที่ 11 จากทั้งสิ้น 32 องค์ ส่วนองค์จริง สามารถชมได้ในขบวนแห่งานตราดรำลึกประจำปี ยังมีไทม์ไลน์การเสด็จประพาสเมืองตราดจำนวน 12 ครั้ง

พระแสงราชศัสตราองค์ที่ 11 (องค์จำลอง)

ส่วนโซนที่ 5.เหตุการณ์ยุทธนาวีเกาะช้าง จัดแสดงเรื่องราวตามลำดับเหตุการณ์ยุทธนาวี โดยจำลองห้องจัดแสดงเป็นเรือรบ ซึ่งมีการจำลองเรือรบทั้งของไทยและต่างชาติให้เห็นขนาดที่แตกต่างกัน ในอดีตเหตุการณ์ รศ.112 เป็นความขัดแย้งระหว่างไทยและฝรั่งเศส มีการสู้รบกันจนกลายเป็นกรณีพิพาทอินโดจีน ในวันที่ 16 มกราคม 2483 จึงเกิดเหตุรบที่เกาะช้าง โดยเรือลาดตระเวนลามอตต์ ปีเกต์ได้จู่โจมไทยแบบฉับพลัน เรือรบ 3 ลำของไทยคือ เรือหลวงธนบุรี เรือหลวงชลบุรี และเรือหลวงสงขลา ตกอยู่ในความเสียเปรียบด้วยน้ำหนักของเรือทั้ง 3 รวมกันยังไม่ถึงครึ่งหนึ่งของเรือลามอตต์ ปีเกต์ลำเดียว ทำให้เรือรบ 2 ลำของไทยต้องสละเรือ ส่วนเรือหลวงธนบุรีได้ทำการต่อสู้จนสุดศักยภาพด้ยิงกระสุนจนโดนท้ายเรือลามอตต์ ปีเกต์เกิดไฟไหม้ท้ายเรือหักห้อยลงมา แต่จากการถูกระดมยิงทำให้ทหารและผู้บังคับการเรือเสียชีวิต ในที่สุดเรือหลวงธนบุรีก็จมลงสู่อ้อมกอดของท้องทะเลตราด และ 6.ตลาดเมืองตราด จัดแสดงเรื่องราวการค้าในตลาดเก่าและสภาพปัจจุบันของตลาดเมืองตราดที่มีของขายมากมาย

เรือรบหลวงทั้ง 3 ลำของไทย

จากพิพิธภัณฑ์เดินเท้าชมเมืองสักหน่อยที่ชุมชนรักษ์คลองบางพระ หรือ ย่านคลองบางพระ ซึ่งมีบ้านเรือนริมคลอง อีกฟากจะเป็นป่าชายเลนเขียวขจี ในอดีตบ้านเรือนจะเป็นเรือนไม้ห้องแถวต่อกัน ชาวบ้านส่วนใหญ่จะมีอาชีพเป็นพ่อคนกลาง อาทิ มะพร้าว เครื่องเทศ ของป่าต่างๆ มีความรุ่งเรืองอย่างมาก และเมื่อวางจากงานก็มีอาชีพเสริมในการจับจระเข้พันธุ์น้ำเค็ม จนกระทั่งมีการพัฒนาถนนตัดผ่านทำให้ย่านนี้ซบเซาไปตามกาลเวลา เดินเรียบคลองมาเรื่อยๆก็จะถึงจุดที่เป็นท่าเสด็จของรัชกาลที่ 5 ที่ได้เคยทรงใช้ขึ้น-ลงเรือ

ตามรอยท่าเสด็จร.5

เดินทะลุซอกซอยสู่ถนนหลักเมือง ซึ่งเป็นย่านธุรกิจที่รุ่งเรืองอย่างมาก มีห้างทองเปิดทำการค้า นับแต่ปี 2500 วิถีชีวิตจากบ้านเรือนไม้ห้องแถวก็ยังเหลือให้ชมอยู่สักหนึ่งเรือนได้ บางหลังที่ยังคงหลงเหลือ ยังคงมีกลิ่นอายการตกแต่งบ้านในอดีตคือการทำบานพับ 3 พับ หน้าจั่วบ้านมีการแกะสลักลายพรรณพฤกษาแบบดั้งเดิมที่ความคมชัด แต่ไม่อ่อนช้อยเท่ากับฝีช่างเมืองเพชรบุรี นอกนั้นก็แปรสภาพเป็นบ้านสมัยใหม่

  ย่านริมคลอมบางพระในปัจจุบัน

บนถนนเส้นนี้สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์อีกแห่ง คือ บ้านเรสิดัง กัมปอต แปลได้ว่า ที่ว่าราชการของฝรั่งเศส สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ข้อสันนิษฐานเดิมบอกไว้ว่าปลัดเมืองตราดได้สร้างบ้านหลังนี้ให้เป็นเรือนหอของลูกสาว แต่เมืองตราดตกอยู่ภายใต้การยึดครองของฝรั่งเศส จึงใช้เป็นที่อยู่ของข้าหลวงฝรั่งเศส เดิมบ้านมีสถาปัตยกรรมหลังคาทรงปั้นหยา ก่ออิฐถือปูนครึ่งปูนครึ่งไม้ 3 ชั้น สีขาว ด้วยอากาศร้อนและฝนตกหนัก ฝรั่งเศสก็ได้มีการต่อเติมชานทางเดินและระเบียงฝั่งซ้ายมือ ด้านมีหอคอยกระจายเสียง เราได้ลองส่องดูทางขึ้นไปเป็นช่องแคบและเล็กมาก แต่ในอดีตคนตัวเล็กสามารถขึ้นไปประกาศเรื่องที่จะแจ้งแก่ประชาชน ปล่องได้บนก็ทำหน้าที่เป็นลำโพง  แต่อีกนัยยะหนึ่งคาดว่าเอาไว้เฝ้าระวังในยามค่ำคืน

 เรือนไม้ห้องแถว บ้านเรือนเมืองตราดในอดีตที่ยังหลงเหลืออยู่

เมืองตราดยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกหลายจุด ไว้คราวหน้าเราขอนำมาบอกเล่าเสน่ห์วัดวาอารามที่มีศิลปะอันวิจิตรงดงามไม่แพ้ที่ใด

บ้านเรสิดัง กัมปอต
อาหารพื้นบ้านหลากหลายเมนู หลังนั่งเรือชมป่าชายเลน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตราดแล้งหนัก พื้นที่ปลูกทุเรียน-มังคุด อ.เขาสมิง ขาดน้ำช่วงใกล้เก็บผลผลิต

สถานการณ์การขาดแคลนน้ำทั้งในคลองสาธารณะและอ่างน้ำส่วนตัวของเกษตรกรชาวสวนผลไม้ในอำเภอเขาสมิง จ.ตราด กำลังได้รับความเสียหายแล้ว เกษตรกรตื่นตัวหาน้ำสำรอง

นักท่องเที่ยวเกาะช้างแห่กลับบ้าน ต่อคิวลงเรือเฟอร์รี่ยาวเหยียด 4 กม. รอนานถึง 3 ชม.

ที่ท่าเรือเฟอร์รี่อ่าวสัปรด ต.เกาะช้าง อ.เกาะช้าง จ.ตราด บรรยากาศการเดินทางกลับของนักท่องเที่ยวจากเกาะช้าง จ.ตราด ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ประจำปี 2567 เพื่อกลับภูมิลำเนา ตั้งแต่เช้าวันนี้มีนักท่องเที่ยวทยอยเช็คเอ้าท์จากโรงแรมบนเกาะช้าง

เกาะกูดคึกคัก หยุดวันแรกสงกรานต์ นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจนต้องเสริมเรือโดยสาร

บรรยากาศการเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปอำเภอเกาะกูด (ประกอบด้วย ต.เกาะกูด และต.เกาะหมาก)ในช่วงสายวันนี้(09.30 น.-13.30 น.วันที่ 12 เมษายน 2567)ซึ่งเป็นวันแรกของวันหยุดยาวช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2567

อึ้ง! แท่งปูนคอนกรีตยักษ์โผล่ริมหาดดังเกาะช้าง แต่หน่วยงานกลับไม่รู้สร้างเมื่อไหร่

นายวันรุ่ง ขนรกุล กำนันตำบลเกาะช้าง อ.เกาะช้าง จ.ตราด เปิดเผยว่า ได้รับร้องเรียนจากชาวเกาะช้างว่า ที่หน้าโรงแรมเกาะช้างแกรนด์วิว บริเวณหาดทรายขาว มีสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำเข้าไปในทะเล ซึ่งหลังจากได้ทราบเรื่องและหนังสือร้องเรียนแล้วได้

หัวหน้าอุทยานฯ เผยภาพรวมท่องเที่ยวเกาะช้างเพิ่มขึ้น เก็บค่าเข้า 13 ล้านบาทใน 5 เดือน

นายนิรมิตร สงแสง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง จังหวัดตราด เปิดเผยว่า หลังจากที่เข้ามารับตำแหน่งหัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้างเมื่อ 5 เดือนที่ผ่านมาได้เข้ามายกระดับการทำงานในอุทยานฯเกาะช้างใหม่ในหลายด้านโดยเฉพาะในเรื่องการให้บริการนักท่องเที่ยวท่่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง

เกินฝัน! 'ตาหลอย' ขี่ซาเล้งจากอุบลฯ ได้เล่นน้ำทะเลเกาะช้าง การต้อนรับสุดอบอุ่น

คุณตาหลอย ทาพิลา อายุ 70 ปี ชาวอำเภอน้ำยืน จ.อุบลราชธานี เดินทางถึงเกาะช้าง จ.ตราดแล้ว โดยสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตราด เป็นเจ้าภาพในการดูแลการเดินทาง