‘โรม’กอดหลักนายกฯต้องเป็นส.ส.

รายชื่อปาร์ตี้ลิสต์ "รทสช." ว่อน ฮือฮา “บิ๊กตู่”  ไม่ติดโผ ด้าน "ก้าวไกล" หวดตามหลังทำลายหลักการสำคัญ ปชช.แลกมาด้วยการต่อสู้ยุคพฤษภา 35 นายกฯ ต้องมาจาก ส.ส. ขณะที่เมืองชลไม่มีแผ่ว ขาใหญ่เปิดศึกส่งตัวแทนวัดพลัง ด้าน พปชร.ควันออกหูโพลเขี่ย "ลุงป้อม"  หลุดเก้าอี้นายกฯ “ปชป.” หลอนสูญพันธุ์ ข่มใจสู้อ้างอดีตคนกรุงยังเคยเปลี่ยนใจชั่วข้ามคืน

เมื่อวันจันทร์ ที่องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกฯ  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เดินทางมาเป็นประธานการประชุมสภาองค์การทหารผ่านศึก ครั้งที่ 1/2566 โดยไม่มีการแจ้งกำหนดการล่วงหน้า ผู้สื่อข่าวถามว่า วันนี้ได้ตัดสินใจลงสมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) แล้วหรือยัง พล.อ.ประยุทธ์ไม่ตอบคำถามดังกล่าว ทำเพียงส่ายศีรษะและชี้นิ้วไปยังห้องประชุม พร้อมเดินขึ้นไปทันที และกล่าวว่า "ประชุมก่อน"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์จะไม่มาเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว เนื่องจากมีการเปิดตัวร่วมงานกับพรรคการเมืองไปแล้ว จึงเกรงว่าอาจจะทำให้กระทบกับส่วนราชการ แต่ภายหลังได้มีการเปลี่ยนแปลงกะทันหันมาเข้าร่วมประชุมตามปกติ เนื่องจากสามารถทำได้ในฐานะนายกรัฐมนตรี

ด้านนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ในฐานะแกนนำพรรค รทสช. เปิดเผยถึงเหตุผลที่ตัดสินใจลงสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ แทนการลงสมัคร ส.ส.ชลบุรี เขต 1 ซึ่งเป็นแชมป์เก่าว่า ตนไม่เพียงแต่รับผิดชอบพื้นที่ จ.ชลบุรี หรือภาคตะวันออกเท่านั้น แต่ยังต้องดูแลพื้นที่ยุทธศาสตร์ภาคกลางและภาคตะวันตกให้พรรคด้วย การลงในแบบบัญชีรายชื่อจะสามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพมากกว่า

นายสุชาติระบุว่า ตลอด 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ตนประกาศท้านายสนธยา คุณปลื้ม แกนนำชลบุรี พรรคเพื่อไทยมาตลอด ให้ลงสมัคร ส.ส.เขต 1 ชลบุรี แต่นายสนธยา เลือกลงในแบบบัญชีรายชื่อ โดยจะส่งเด็กหน้าใหม่ลงในเขตดังกล่าว ตนจึงตัดสินใจส่ง น.ส.ณภัสนันท์ อรินทคุณวงษ์  อดีตรองนายกเทศมนตรีตำบลเสม็ด และเป็นน้องสาวของภรรยาลงแทน เนื่องจากมั่นใจว่าประชาชนจะให้การตอบรับ  สะท้อนผ่านผลโพลในเขต 1 เราถึงมั่นใจเช่นเดียวกับอีกหลายเขตในชลบุรี

 “ถ้าผมลงเขตก็ต้องหาเสียงเฝ้าแต่เขตของตัวเอง พื้นที่รับผิดชอบอื่นๆ ก็คงทำไม่เต็มที่ เลือกตั้งครั้งนี้ผมมีหน้าที่ต้องร่วมผลักดันให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ อีกสมัย ต้องร่วมคณะเดินสายปราศรัยตามจังหวัดต่างๆ จึงไม่ใช่แค่เพียงเอาชนะศึกในเขตตัวเอง แต่ต้องมุ่งเอาชนะสงครามเลือกตั้งใหญ่ให้ได้”

วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้พรรค รทสช.ได้จัดทำรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อครบจำนวน 100 รายชื่อแล้ว โดยเรียงลำดับตามตัวอักษร และจะนำรายชื่อทั้งหมดส่งไปทำไพรมารีโหวต เมื่อเสร็จจากขั้นตอนทำไพรมารีโหวต ก็จะนำรายชื่อส่งกลับมาให้คณะกรรมการบริหารพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง

ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.พรรคการเมือง มาตรา 51 ระบุว่า ในการทำโผปาร์ตี้ลิสต์เพื่อส่งไปทำไพรมารีโหวต ไม่ต้องจัดลำดับ 1-100 เพราะกฎหมายบัญญัติแค่ว่าให้จัดทำบัญชีรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยคำนึงถึงผู้สมัครรับเลือกตั้งจากภูมิภาคต่างๆ และความเท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิง แล้วส่งบัญชีรายชื่อดังกล่าวให้สาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด

ไร้ชื่อ 'บิ๊กตู่' ปาร์ตี้ลิสต์

ให้หัวหน้าสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด จัดการประชุมสมาชิกเพื่อรับฟังความคิดเห็น และให้สมาชิกให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบตามรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหาส่งมา แล้วส่งบัญชีรายชื่อดังกล่าวทั้งที่ได้รับความเห็นชอบและไม่ได้รับความเห็นชอบ พร้อมความคิดเห็นให้คณะกรรมการสรรหาผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ เพื่อพิจารณาจัดทำบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง

จากนั้นให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลที่เหมาะสมเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ แล้วจัดลำดับตามที่เห็นว่าเหมาะสมเพื่อให้ได้บัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าในจำนวน 100 รายชื่อนี้ไม่มีชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รวมอยู่ด้วย แต่จะมีชื่ออยู่ในบัญชีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรค รทสช. โดยนายกฯ จะลงสมัครเป็นแคนดิเดตนายกฯ เพียงอย่างเดียว  เช่นเดียวกับ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร และนายเศรษฐา ทวีสิน ที่ก็ไม่มีชื่อในโผปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคเพื่อไทย

 ขณะที่รายชื่อหลักๆ คนอื่นๆ เป็นไปตามที่เป็นข่าว  อาทิ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรค ในฐานะแคนดิเดตนายกฯ คนที่ 2 โดยนายพีระพันธุ์จะอยู่ในลำดับที่ 1  และลำดับที่ 2 คาดว่าเป็นนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรค โดยที่สร้างความประหลาดใจไม่น้อยก็คือ  ไร้ชื่อ ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี แกนนำพรรคและที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีในโผดังกล่าว แต่คาดว่าน่าจะเป็นเพราะเพื่อเปิดทางให้คนอื่นในพรรค อีกทั้งบุตรสาวคือ น.ส.รัดเกล้า  สุวรรณคีรี หรือเนเน่ ก็ลงสมัคร ส.ส.เขต กทม. พรรค รทสช.อยู่แล้ว

รวมถึงยังมีชื่อ ม.ล.ชโยทิต กฤดากร หัวหน้าทีมเศรษฐกิจของพรรค รทสช.ที่เพิ่งลาออกจากบอร์ด ปตท.เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ และ รมว.พลังงาน ทีมเศรษฐกิจรวมไทยสร้างชาติ  ที่ลงมาเล่นการเมืองในครั้งนี้ ซึ่งสร้างความประหลาดใจให้คนในพรรคพอสมควรที่ทั้งสองคนมีชื่ออยู่ด้วย

ส่วนคนอื่นๆ ส่วนใหญ่เป็นแกนนำพรรคและรัฐมนตรีของพรรค เช่น นายธนกร วังบุญคงชนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกรรมการกำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์พรรค นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน นายจุติ  ไกรฤกษ์ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  นายวิทยา แก้วภราดัย รองหัวหน้าพรรค นายชัชวาลล์ คงอุดม, นายชุมพล กาญจนะ, นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

'โรม' อ้างนายกฯ ต้องเป็น ส.ส.

รวมถึงนายเกรียงยศ สุดลาภา นายทะเบียนพรรค นายดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง รองหัวหน้าพรรค นายเกชา  ศักดิ์สมบูรณ์ รองหัวหน้าพรรคและอดีต ส.ว.ราชบุรี นายปรากรมศักดิ์ ชุณหะวัณ ทายาทการเมืองตระกูลชุณหะวัณ  นายเสกสกล อัตถาวงศ์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี  พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่าฯ กทม.

นางพิชชารัตน์ เลาหพงศ์ชนะ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ  พลังประชารัฐ นายภาคิน สมมิตรธนกุล อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ นักธุรกิจด้านพลังงาน นางศิริวรรณ  ปราศจากศัตรู อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ นายชัยวัฒน์ เป้าเปี่ยมทรัพย์ อดีต ส.ส.เขต 2 ฉะเชิงเทรา นายวินท์ สุธีรชัย  อดีต ส.ส.พรรคก้าวไกล นายโกวิทย์ พวงงาม อดีตหัวหน้าพรรคพลังท้องถิ่นไท

นอกจากนี้ ยังมีนักการเมือง อดีต ส.ส.และนักเคลื่อนไหวทางการเมืองอีกหลายคน เช่น นายจำลอง ครุฑขุนทด, นายวิฑูรย์ กรุณา, นายบุญยอด สุขถิ่นไทย, นายพินิจ สิทธิโห อดีต ส.ส.เลยตั้งแต่ยุค พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ, นายพรศักดิ์ เจริญประเสริฐ หรือเสี่ยลาว อดีต รมช.เกษตรฯ ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร, นายสมหวัง อัสราษี อดีตแกนนำแนวร่วม นปช.เสื้อแดง ที่ผิดหวังจากทักษิณ จนมาร่วมงานกับพรรครวมไทยสร้างชาติพร้อมกับเจ๋ง ดอกจิก, พ.ต.ท.สุรทิน พิมานเมฆินทร์ อดีต ส.ส.อุดรธานี ยุคพรรคไทยรักไทย นายอวยชัย วะทา นักเคลื่อนไหวการเมืองจากองค์กรวิชาชีพครู และสมัชชาเกษตรกรรายย่อยภาคอีสาน นายอานนท์ แสนน่าน อดีตแกนนำเสื้อแดงภาคอีสาน อดีตประธานหมู่บ้านเสื้อแดงแห่งประเทศไทย เป็นต้น

ด้านนายรังสิมันต์ โรม โฆษกพรรคก้าวไกล ระบุว่า  สำหรับพรรคก้าวไกลให้ความสำคัญกับการที่นายกฯ ต้องมีที่มาจาก ส.ส.มาโดยตลอด เพราะเป็นหลักการที่มาจากการต่อสู้ของประชาชนในเดือนพฤษภาคม 2535 ที่สละชีวิตของคนจำนวนมากเพื่อยืนยันหลักการเรื่องนี้ จนได้ถูกบรรจุในรัฐธรรมนูญ 2540 ว่านายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. แต่รัฐธรรมนูญ 2560 ที่มาจากเผด็จการ กลับทำลายการต่อสู้ของประชาชนและทำลายหลักการนี้ลง เหลือเพียงให้แต่ละพรรคเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีได้ 3 คนโดยไม่ต้องเป็น ส.ส.

 “ดังนั้นเพื่อดึงให้สังคมกลับมายืนอยู่บนความถูกต้องตามครรลองอีกครั้ง จำเป็นที่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีทุกคนควรต้องเป็น ส.ส.ด้วย สำหรับพรรคก้าวไกลเองยืนยันว่า พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล จะเป็นลำดับที่หนึ่งในบัญชีรายชื่อของพรรค เพื่อสร้างพรรคการเมืองที่เป็นสถาบันทางการเมืองที่เข้มแข็งต่อไปในอนาคต” นายรังสิมันต์ระบุ

ควันออกหูโพลเขี่ย 'ลุงป้อม'

ที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นายสกลธี ภัททิยกุล  หัวหน้าทีมผู้สมัคร กทม. กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค พปชร. ไม่ติดอันดับในนิด้าโพล หัวข้อคนที่ชาว กทม.อยากให้เป็นนายกฯ โดยนายสกลธีกล่าวว่า ไม่กังวล หากเอาตัวเองวัดตอนเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โพลได้ 1  เปอร์เซ็นต์ แต่ผลออกมาได้ 9% การทำโพลต้องดูว่าใช้ตัวอย่างเท่าไหร่ วัดอย่างไร ผลโพลเป็นเพียงกระแสบางพื้นที่ จะเหมารวมทั้งหมดไม่ได้ หากทำโพลของเราเองมาเทียบผลก็ต่างกันสิ้นเชิง และเป็นไปไม่ได้ที่ พล.อ.ประวิตร จะไม่ติดโพล อาจจะเป็นโพลช่วงกระแส อาจจะไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง

ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวตอบคำถามว่าสถานการณ์ในพื้นที่อีสานมีปัญหาหรือไม่ หลังจากที่ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ออกมาโจมตีหลายๆ เรื่อง  นายอนุทินกล่าวว่า ตอนที่มีเรื่องนี้ออกมาเราก็เร่งทำโพลในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งเมื่อวันที่ 26 มี.ค.ก็เห็นแล้วว่ามีโพลออกมาบอกว่าเราไม่ได้รับผลกระทบอะไร ตรงกันข้ามคะแนนนิยมในตัวบุคคลของ ภท.มีมากขึ้น

ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคที่รับผิดชอบพื้นที่ กทม.กล่าวว่า พร้อมรับฟังเสียงสะท้อนจากคน กทม.ผ่านการทำโพล เพื่อนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ในการทำงานให้เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดียิ่งขึ้น ผลสำรวจผ่านการทำโพลก็มีขึ้นมีลงไปตามช่วงเวลาที่ทำโพล อย่างไรก็ดีพบว่าการเลือกตั้งในพื้นที่ กทม.ในอดีตที่ผ่านมา ความคิดเห็นของประชาชนต่อการใช้สิทธิ์ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา บางครั้งเกิดการเปลี่ยนแปลงชั่วข้ามคืน เมื่อมีข้อมูลใหม่มาประกอบการตัดสินใจเพิ่มมากขึ้น ถึงแม้ผลสำรวจของนิด้าโพลในพื้นที่  กทม. พรรคประชาธิปัตย์ยังตามหลังพรรคการเมืองอื่นอีก  3 พรรค เราไม่หวั่นไหว ผู้สมัคร ส.ส.กทม.ของพรรคยังคงมุ่งมั่นทำงานหนักเพื่อปักธงชัยใน กทม.ให้ได้

ที่พรรคชาติพัฒนากล้า (ชพก.) อ.เมืองนครราชสีมา  นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานพรรคชาติพัฒนากล้า พร้อมด้วยนายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรค ได้นำว่าที่ผู้สมัคร  ส.ส.ของพรรคประกอบพิธีบวงสรวงสักการะอนุสรณ์สถาน พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกฯ และเป็นผู้ก่อตั้งพรรคชาติพัฒนา ก่อนจะร่วมกันเปิดตัวทีมว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.นครราชสีมาทั้ง 16 เขตเลือกตั้ง อาทิ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขต  1 นายเทวัญ ลิปตพัลลภ เลขาธิการพรรค, เขต 2 นายวัชรพล โตมรศักดิ์ อดีต ส.ส.นครราชสีมาหลายสมัย, เขต 3  นายสมศักดิ์ กาญจนวัฒนา และเขต 4 นายสมบัติ กาญจนวัฒนา เป็นต้น

 โดยการเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.นครราชสีมาทั้ง 16  เขต มีไฮไลต์อยู่ที่การเปิดตัวบนเวทีมวยชั่วคราว ที่ตั้งอยู่บริเวณหน้าที่ทำการพรรค โดยมีนายสุวัจน์เป็นโปรโมเตอร์มวย ซึ่งว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ทุกคนจะต้องสวมนวมชกกระสอบทราย เป็นการสื่อความหมายถึงการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนต่างๆ ให้พี่น้องประชาชน เช่น ปัญหาที่ดินทำกิน ปัญหนี้สิน ปัญหาสินค้าราคาแพง ปัญหาเกษตรกร ปัญหาน้ำท่วม และปัญหาภัยแล้ง เป็นต้น

นายสุวัจน์เปิดเผยว่า เวทีมวยนี้เป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ แต่ไม่ได้ต่อสู้กับศัตรู เพราะพรรคชาติพัฒนากล้าไม่มีศัตรู แต่ต้องการบอกกับพี่น้องประชาชนว่า ปัญหาของบ้านเมือง ปัญหาของคนโคราชมีอยู่ทั้งหมด 16 ปัญหา ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ทั้ง 16 เขตจะขึ้นมาต่อสู้เพื่อเอาชนะปัญหาของประชาชน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง