
หลังจากที่กระทรวงมีนโยบายผลักดันการขนส่งทางรางให้เป็นขนส่งหลักของประเทศ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนค่าขนส่งของประเทศถูกลง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ (Mega Project) โดยได้มอบนโยบายให้สำนักงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (สทร.) เป็นแกนหลักทำงานร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และกระทรวงอุตสาหกรรม นำความรู้แนวทางจากการดำเนินการที่เรียนรู้ เพื่อเร่งดำเนินการให้เกิดการผลิตรถไฟและหัวรถจักรขึ้นในประเทศไทย ทดแทนการสั่งซื้อนำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อพัฒนาการบริการขนส่งด้วยระบบรางของประเทศอย่างเป็นรูปธรรม
ล่าสุด นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง หรือ สทร. เมื่อวันที่ 14 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายในการร่วมกันพัฒนาและผลิตต้นแบบรถจักร รถโดยสาร และรถสินค้า รวมถึงชิ้นส่วนและอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อรองรับการขนส่งระบบรางอย่างมีประสิทธิภาพ
ภายหลังการลงนามในครั้งนี้ สทร.จะเร่งปรับปรุงรถโดยสารชั้น 3 (รถไฟพัดลม) ให้เป็นรถโดยสารชั้น 3 ปรับอากาศ ที่การรถไฟฯ ได้ส่งมอบขบวนรถโดยสารไปแล้วก่อนหน้านี้ จำนวน 1 คัน ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 2568 เพื่อนำมาเป็นต้นแบบในการปรับปรุงรถโดยสารชั้น 3 จำนวน 130 คัน จากทั้งหมดจำนวนกว่า 500 คัน ซึ่งขบวนรถไฟพัดลมเหล่านี้มีอายุเฉลี่ย 37-40 ปี
โดยในระยะแรก การรถไฟฯ มีแผนจะดำเนินการปรับปรุงรถโดยสารชั้น 3 จำนวน 40 คัน วงเงินงบประมาณ 295 ล้านบาท ปัจจุบันได้นำส่งเอกสารไปยังฝ่ายการพัสดุดำเนินการ เพื่อออกประกวดราคา (ประมูล) ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐฯ ด้วยวิธี E-biding คาดว่าจะลงนามสัญญาจ้างกับผู้ชนะการประมูลภายในเดือนธันวาคม 2568 และจะเริ่มดำเนินการปรับปรุงในช่วงต้นปี 2569 ใช้ระยะเวลาปรับปรุงเฉลี่ยคันละ 90 วัน คาดว่าจะส่งมอบคันแรกในเดือน เม.ย.2569 และนำมาวิ่งให้บริการได้ทันที โดยจะทยอยแล้วเสร็จจนครบทุกคันภายในปี 2570 ในส่วนที่เหลืออีก 90 คันจะขออนุมัติงบประมาณในปี 2569 เพื่อดำเนินการต่อไป ทั้งนี้เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ จะส่งผลให้ประชาชนได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น
ปัจจุบันปริมาณผู้โดยสารที่ใช้บริการการรถไฟฯ เฉลี่ยปีละ 32 ล้านคน แบ่งเป็น ผู้โดยสารที่ใช้บริการรถไฟพัดลม จำนวน 19.2 ล้านคน หรือคิดเป็น 60% และผู้โดยสารรถไฟปรับอากาศ จำนวน 12.8 ล้านคน ซึ่งการปรับปรุงรถโดยสารชั้น 3 ปรับอากาศครั้งนี้นั้น อาจจะมีการปรับราคาค่าโดยสารตามระเบียบของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การขนส่งทางราง ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในปลายปี 2568 อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าจะไม่กระทบกับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย พร้อมทั้งจะมอบส่วนลดให้กับกลุ่มผู้สูงอายุ นักเรียน นักศึกษา โดยการดำเนินการดังกล่าวถือเป็นปัจจัยหนึ่งของแผนฟื้นฟูกิจการรถไฟด้วย
โดยการลงนามความร่วมมือระหว่างการรถไฟฯ และสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง ในครั้งนี้จะช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถของประเทศทั้งในด้านเทคโนโลยี การผลิตชิ้นส่วนภายในประเทศ และการพัฒนาบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญด้านระบบรางมากขึ้น เรามุ่งหวังว่าการวิจัยและพัฒนาในครั้งนี้จะช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้า อำนวยความสะดวกในการเดินทาง และผลักดันให้การขนส่งสินค้าทางรางมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อภาคอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว และเศรษฐกิจของประเทศ
หลังจากนี้ก็ต้องมาลุ้นความร่วมมือระหว่าง สทร.และการรถไฟฯ ในการขับเคลื่อนผลักดันเรื่องของการออกแบบและการผลิตต้นแบบรถไฟประเภทต่างๆ เช่น หัวรถจักร รถโดยสาร รถสินค้า ตลอดจนการพัฒนาดัดแปลงตู้รถไฟ และการพัฒนาชิ้นส่วนอุปกรณ์รถไฟตามมาตรฐานสากล เพื่อรองรับการขนส่งระบบรางที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย ตอบโจทย์ความต้องการด้านการขนส่งของประเทศ และก่อให้เกิดการสร้างอุตสาหกรรมระบบรางที่เข้มแข็ง รวมไปถึงการพัฒนาองค์ประกอบต่างๆ โดยเฉพาะคุณภาพของโครงสร้างพื้นฐานระบบราง การพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมที่นำไปสู่การใช้ประโยชน์จริง.
กัลยา ยืนยง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ขับรถเร็วแชมป์อุบัติเหตุ
ในช่วงเทศกาลสงกรานต์เป็นช่วงเวลาที่มีประชาชนจำนวนมากใช้รถใช้ถนนในการเดินทางกลับภูมิลำเนาและท่องเที่ยว ทำให้มีปริมาณการจราจรหนาแน่นในเส้นทาง กระทรวงคมนาคม
Aftershock...สะเทือนท่องเที่ยวไทย
เหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ขนาด 8.2 ริกเตอร์ ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่เมียนมา ในช่วงบ่ายของวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา ส่งแรงสั่นสะเทือนรุนแรงมายังหลายพื้นที่ในไทย โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร
เทรนด์ความงามต้องจับตามอง
ในปัจจุบันผู้คนมีมุมมองความงามที่เปลี่ยนไป ไม่ยึดติดกับบิวตี้สแตนดาร์ดเดิมๆ เปิดรับความงามที่หลากหลายในแบบที่แต่ละคนมั่นใจ และไม่ได้มองว่าความงามเป็นเพียงรูปลักษณ์ภายนอก แต่สะท้อนถึงตัวตน
ห่วงศก.ซบกระทบ“จำนำทะเบียนรถ”
ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ “หนี้ครัวเรือนไทย” แม้จะมีการชะลอตัวลงบ้างแล้วแต่ก็ยังอยู่ในระดับสูง โดยจากข้อมูลของ “สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์” ที่ระบุว่า ภาวะหนี้ครัวเรือนไทยในไตรมาส 3/2567
นวัตกรรมดัน‘เศรษฐกิจใหม่’
ท่ามกลางกระแสของการลงทุนที่เปลี่ยนไป ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่จะต้องเดินหน้าอย่างต่อเนื่องเพื่อไม่ให้ตกขบวนการลงทุน มุมมองใหม่ๆ เข้ามากยิ่งขึ้น รวมถึงแนวทางการในเทคโนโลยี
อย่าฉวยโอกาสยามวิกฤต
จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 8.2 ริกเตอร์ ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา เมื่อเวลา 13.20 น.ของวันที่ 28 มี.ค. ได้ส่งผลให้แรงสะเทือนถึงประเทศไทยหลายพื้นที่ ได้สร้างความเสียหายรุนแรงเกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร