เหตุการณ์รุนแรงที่หน้าที่ว่าการอำเภอสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 9 มี.ค.ที่ผ่านมา ทำให้อาสาสมัครรักษาดินแดน (อส.) เสียชีวิต 2 ราย ยังไม่นับเหตุการณ์ในจุดอื่นที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตอีกหลายราย กลายเป็นการตอกย้ำว่า “ข้อตกลงเพื่อวัดผลการพูดคุย” กับคนของขบวนการฯ ในการยุติการก่อเหตุในช่วงเดือน “รอมฎอนสันติสุข” ตามการประกาศเจตนารมณ์ของฝ่ายรัฐผ่านสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) นั้น กำลังอยู่ในช่วงพิสูจน์ว่าแผน “ดับไฟใต้” 1 ปีของรัฐบาลภายใต้การถือธงนำของ “ทักษิณ ชินวัตร” ที่ปรึกษาประธานอาเซียน จะมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน
“ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ยืนยันหลายครั้งว่า จะไม่มีการ “พูดคุยไป-ก่อเหตุไป” ทุกอย่างต้องดูเหตุการณ์ในพื้นที่ก่อน เพื่อทดสอบว่า ที่มีการไปคุยกันนั้นเป็นตัวจริงหรือไม่ จึงจะเข้าสู่ขั้นตอนการเคาะ “ยุทธศาสตร์ดับไฟใต้ฉบับใหม่” และการแต่งตั้งคณะพูดคุยสันติสุขฯ ซึ่งหัวหน้าคณะอาจจะเป็นคนเดิม หรืออาจจะเปลี่ยนคนใหม่
สำหรับ คณะพูดคุยสันติสุขฝ่ายไทยชุดล่าสุด มี “ฉัตรชัย บางชวด” เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยฯ ได้ข้อสรุปในการเดินหน้าตาม “แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสันติสุขแบบองค์รวม” หรือ JCPP ครอบคลุม 3 ประเด็นสำคัญ คือ การลดความรุนแรง การปรึกษาหารือสาธารณะ การแสวงหาทางออกทางการเมือง ที่มีการลงรายละเอียดในการพูดคุยเรื่องการปกครองตนเอง แต่กระบวนการแต่ละขั้นตอนจะมีองค์กรฯ ตะวันตกเข้าร่วมสังเกตการณ์ และมีกลไกในการถามความต้องการระดับพื้นที่
แต่นั่นกลายเป็นปมที่ผู้มีอำนาจไม่กล้าที่จะเดินหน้าต่อไป เพราะเกรงว่าจะสุ่มเสี่ยงพัฒนาไปสู่การแบ่งแยกดินแดน นั่นก็คือเจตจำนงของ “ขบวนการฯ” ที่ต้องไปให้ถึงเป้าหมาย ส่วนจะเป็นรูปแบบเบ็ดเสร็จ หรือเป็นแค่กระจายอำนาจจากรัฐส่วนกลางนั้น ฝ่ายขบวนการฯ ซึ่งมีสภาซูรอ จะต้องมีส่วนในการกำหนด
ขณะที่ โจทย์ใหญ่ก็ยังเป็นโจทย์เดิมที่ถกเถียงมาหลายยุคตั้งแต่ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร”, “รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา” เลยมาถึง “รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน” คือ
คนที่ไปเจรจาเป็นตัวจริง หรือตัวปลอม และมีอำนาจตัดสินใจหรือไม่?
ซึ่งหากตรวจสอบกันแล้ว ทุกคณะที่เป็นทางการ และทีมอย่างไม่เป็นทางการ ต่างยืนยันว่าทุกคนที่ไปคุยมาเป็นตัวจริง โดยมักใช้ช่วงเวลาในการที่พื้นที่ปลอดเหตุรุนแรงเป็นตัววัดผล “ความเป็นตัวจริง” ทุกครั้ง
จนล่าสุดที่มีข่าวว่า พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก กรรมการผู้ช่วย รมต. เป็นตัวหลักในการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการ หลังจากที่ “ทักษิณ ชินวัตร” ลงพื้นที่ และมี พ.ต.ท.ทวี สอดส่อง ซึ่งเคยทำงานในพื้นที่ภาคใต้มาก่อน และเคยเป็นทีมหลักในยุคที่ “ภราดร พัฒนถาบุตร” เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยสันติภาพฯ
โดย “ผู้การฯ ทวี” หัวหน้าพรรคประชาชาติ คุมฐานเสียงสำคัญในฝ่ายสีแดงของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่กำลังถูกท้าชิงจากตัวละครการเมืองใหม่ๆ ของพรรคฝ่ายค้าน อย่างพรรคประชาชน พรรคเป็นธรรม รวมถึงบ้านใหญ่ของภูมิใจไทยที่ยังพยายามตรึงเก้าอี้ไว้
นอกจากนั้นยังมีทีมเดิมที่เคยเป็น “ขุมข่าว” ในการแกะรอยขบวนการบีอาร์เอ็น และเกาะติดแหล่งข่าวในภาคใต้ เช่น พล.อ.สำเร็จ ศรีหร่าย, พล.ท.สมเดช โยธา, พล.ชินวัฒน์ แม้นเดช เข้าแถวร่วมวงคลังข้อมูลด้วย
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายขบวนการฯ เองก็ไม่ได้เป็นเอกภาพ มีทั้งสายเหยี่ยว และสายพิราบ รวมถึงสายกลางๆ ทั้งในส่วนการเมือง ศาสนา และการทหาร แต่ละฝ่ายไม่ได้คุมสภาพได้ทั้งหมด เมื่อการเจรจาและผลการพูดคุยยังไม่ได้รู้ว่าเป็น ข้อสรุปที่โดนใจที่สุด ผลจึงออกมาอย่างที่เห็น
แม้ยุทธวิธีที่ผู้ก่อเหตุใช้ไม่ได้แตกต่างจากที่ทำมาในอดีต คือ ฉวยโอกาสโจมตีจุดที่อ่อนแอ ใช้อาวุธปืนสงครามเข้าโจมตี วางระเบิดเปิดทางหลบหนี แต่คนก่อเหตุก็ไม่ได้เป็นกลุ่ม Pmipti เยาวชนในยุคก่อนปี 59 ที่ถูกฝึกมาเป็น RKK ฝังตัวในหมู่บ้าน แต่เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่มารับไม้ต่อ เพียงแต่มีรายละเอียดในวิธีการ ซึ่งเลียนแบบกลุ่มหัวรุนแรงในตะวันออกกลางที่เผยแพร่ในยูทูบ
โดยปีกด้านการทหาร ภายใต้การชี้นำของผู้มีอำนาจบางขั้วในสภาซูรอ เห็นว่าฝ่ายไทยยังไม่มีข้อเสนอที่ “จริงใจ” พอในการไปสู่เป้าหมายที่เขาต้องการ ยิ่งการเสนอ “รอมฎอนสันติสุข” ไม่ได้มีผลในเชิงต่อรองของฝ่ายเขา การโต้กลับข้อเสนอตัวแทนจากรัฐไทยด้วยการสื่อสารทางเปิด และระดับบุคคลจึงเกิดขึ้นอย่างที่เห็น
แม้ที่ปรึกษาประธานอาเซียนอย่าง “ทักษิณ ชินวัตร” เชื่อมั่นในตัวผู้นำมาเลเซียว่าจะออกแรงสุดตัวเพื่อรุกเข้าไปที่แกนกลางของสภาฯ ของขบวนการ ที่ล้วนแต่อยู่ในประเทศเขานั้น ก็ยังขาดวัตถุดิบที่จะ “เจรจา-ต่อรอง” เพราะฝ่ายไทยก็ต้องการเช็กความต้องการในพื้นที่กับขบวนการฯ ว่าเป็นกรอบเดียวกันหรือไม่ ระหว่างนี้จึงเหมือนเป็นช่วงของการ “วัดใจ”
ในขณะที่ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ที่ถูกขุดเรื่องการผลาญงบฯ ดับไฟใต้ในช่วงเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา แต่สถานการณ์ก็ทรงๆ อยู่อย่างนี้ จนถูกแซะว่า “ทหารเลี้ยงไข้” ทำให้การวางน้ำหนักในการใช้งบฯ ในส่วนที่สำคัญ และไม่สำคัญ ยังไม่ลงตัว
ประกอบกับ ทิศทางการเมืองมุ่งไปสู่การใช้การพูดคุย ลดน้ำหนักด้านการทหารลง ผ่องถ่ายให้กำลังประจำถิ่น ทั้งทหารพรานและ อส. เข้ามาคุมพื้นที่ และในปี 2570 ก็จะมีการถอนทหารพรานออกจากพื้นที่ทั้งหมด เปิดอิสระให้กลุ่มก่อเหตุความรุนแรงสามารถจัดตั้ง วางแผน เตรียมการได้สำเร็จ ทั้งที่การข่าวมีการรายงาน การส่งวัตถุตั้งต้นก่อเหตุเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน แต่ยังไม่สามารถสกัดได้
ทำให้บทบาทของแม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะ ผอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า อย่าง พล.ท.ไพศาล หนูสังข์ ก็ต้องปรับไปสู่ทหารสายพิราบ เน้นงานมวลชน และต้องพิจารณาอย่างรอบคอบในการเปิดยุทธการในพื้นที่แต่ละครั้ง ลดการหยิบไปใช้เป็นเงื่อนไข เพราะการทำงานของขบวนการฯ ขับเคลื่อนไปเพื่อให้สอดประสานกับภาคประชาสังคมที่ตรวจสอบทหาร
ดูเหมือนว่า เหตุการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้เปลี่ยนไปจากเดิม หัวข้อถกเถียงยังวนเวียนอยู่ว่าตัวจริง-ตัวปลอม การทบทวนยุทธศาสตร์ยังคงเป็นเรื่องต้องรอผู้มีอำนาจเคาะ การเลือกหัวหน้าคณะพูดคุยฯ การมองภาพปัญหาจากคนเดิมที่ไม่ได้อยู่ประเทศไทยมาหลายปีก็วนลูป
คงได้รอลุ้นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ในการดับไฟใต้ 1 ปีตามแนวทางรัฐบาลจะได้ผลหรือไม่ โดยระหว่างนี้ก็คงภาวนาไม่ให้เกิดความรุนแรงในพื้นที่ไปมากกว่านี้.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
พท.-ภท.ไปกันต่อ ปี70แดงจับมือส้ม?
กระแสข่าวปรับ ครม.เขี่ยพรรคภูมิใจไทยออกจากรัฐบาล และเตรียมดึงพรรคพลังประชารัฐมา เสียบแทน รวมถึงกระแสสั่งสอนโดยริบโควตากระทรวงมหาดไทย
เย้ยมั่นคงรำวง ดับไฟใต้ไม่คืบ! ‘อ้วน’เสียงอ่อย
"สว.ไชยยงค์" ฟาดรัฐบาล “ดับไฟใต้” ไม่คืบ “สว.ใต้” ชี้กล้าๆ กลัวๆ ปล่อย "กอ.รมน.ภาค 4-สมช.” รำวง เสนอใช้ กม.ก่อการร้ายสู้
จับแก๊ง 'พล.ต.อ.' ฉกข้อสอบ โยงเครือข่ายเว็บพนัน 'มินนี่'
ตำรวจไซเบอร์ นำโดย ไซเบอร์อรรถ-พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบช.สอท.) ยังคงเดินหน้าสนองนโยบายรัฐบาล น.ส.แพรทองธาร ชินวัตร นายกฯ ในการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์อย่างเข้มข้นทุกรูปแบบจนเป็นที่น่าพอใจ
'บิ๊กอ้วน' เสียงอ่อยรับแก้ปัญหาไฟใต้ไม่ใช่เรื่องง่าย
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีที่นายฉัตรชัย บางชวด เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เข้าร่วมการประชุมสภาความมั่นคงอาเซียนที่มาเลเซีย
สั่งทหาร-ตำรวจ อ้วนขีดเส้น7วัน ดับไฟใต้เห็นผล
"ภูมิธรรม" ไฟเขียว "ทหาร-ตร." เปิดยุทธการเชิงรุกสกัดก่อเหตุชายแดนใต้ ขีดเส้น 7 วัน
จ่ออัดฉีด5แสนล้านสู้ภาษีทรัมป์
"ภูมิธรรม" โต้ดรามาเลื่อนเจรจาสหรัฐ ปัดโดนแบนวีซ่าปมอุยกูร์ ยันอยู่ไทยหนุนได้