สร้างอนาคตไทย-เริ่มขยับ อีกหนึ่งพรรคหวังแชร์เก้าอี้ กทม.

เดินหน้าเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่สนามเลือกตั้งอย่างต่อเนื่องสำหรับ พรรคสร้างอนาคตไทย โดยหลังเปิดตัวอย่างเป็นทางการไปเมื่อ 19 ม.ค. ต่อจากนั้นเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาก่อนหน้านี้ แกนนำพรรคอย่างสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ และสุพล ฟองงาม ลงพื้นที่ภาคอีสาน เพื่อพบปะกลุ่มผู้สนับสนุนเครือข่ายพรรคในภาคอีสาน

และล่าสุด เมื่อวันเสาร์ที่ 29 ม.ค.ที่ผ่านมา 2 แกนนำพรรคคือ อุตตม สาวนายน และสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ลงพื้นที่ย่านถนนเยาวราชที่อยู่ในช่วงจับจ่ายใช้สอยของประชาชน เนื่่องในช่วงวันตรุษจีน พร้อมกับเปิดตัว อาทิตย์ ชุณหชัชราชัย หรือ ตี้ ว่าที่ผู้สมัคร สส.กทม.เขต 1 ที่โปร์ไฟล์ไม่ธรรมดา ซึ่งหากเป็นไปตามนี้ ก็คือคนที่จะมาลงสู้กับ กานต์กนิษฐ์ แห้วสันตติ ส.ส.กทม.เขต 1 พลังประชารัฐ ที่มีฐานเสียงในพื้นที่ปึ้กพอสมควร การที่พรรคสร้างอนาคตไทยจะเข้ามาเจาะพื้นที่ดังกล่าวของพลังประชารัฐ จึงไม่ใช่เรื่องง่าย ขณะเดียวกันก็ยังมี อดีต ส.ส.เขต 1 กทม. 3 สมัย ของประชาธิปัตย์ คือ เจิมมาศ จึงเลิศศิริ รอล้างตา หวังกลับมาทวงคืนเก้าอี้ให้ได้ในสมัยหน้า อีกทั้งพรรคไทยสร้างไทย ที่มี คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นผู้ก่อตั้งพรรค ก็ยังส่ง ดร.นิค สุวดี พันธุ์พานิช เลขานุการกลุ่มโรงพยาบาลธนบุรี-สายตรง นพ.บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บมจ.ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป (THG) เจ้าของเครือ รพ.ธนบุรี อันโด่งดัง เรียกได้ว่าเป็นพื้นที่แข่งเดือดแน่ๆ  

อย่างไรก็ตาม การที่พรรคสร้างอนาคตไทยต้องการปักธงในพื้นที่ กทม. ทำให้สนามเลือกตั้ง ส.ส.กทม.รอบหน้า ที่จะเพิ่มจำนวน ส.ส.เขต จากเดิม 30 เก้าอี้ เป็น 34 เก้าอี้ การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น จะมีพรรคสร้างอนาคตไทยลงสนามสู้ศึกเพื่อหวังแชร์เก้าอี้ ส.ส.เขต กทม.รวมถึงคะแนนในระบบบัญชีรายชื่อด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ทำให้สนาม กทม.หลังจากนี้ จากเดิมตอนเลือกตั้งปี 2562 ที่แข่งกันระหว่าง 4 พรรคหลักคือ

"พลังประชารัฐ-เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์-อนาคตใหม่หรือก้าวไกลปัจจุบัน"

แต่เลือกตั้งรอบหน้าจะมีเพิ่มเข้ามาอีกคือ พรรคสร้างอนาคตไทย และก่อนหน้านี้ที่เปิดตัวและแสดงเจตจำนงมาแล้วว่าต้องการส.ส.และคะแนนในพื้นที่ กทม.ก็ยังมี พรรคไทยสร้างไทย ที่มีคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นแกนนำ - พรรคกล้า ที่ขับเคลื่อนโดยกรณ์ จาติกวนิช รวมถึง พรรคไทยภักดี ภายใต้การนำของหมอวรงค์ เดชกิจวิกรม ที่ชิมลางสนามเลือกตั้งซ่อมหลักสี่ฯ ไปแล้ว

รวมถึงยังมี ภูมิใจไทย ของเสี่ยหนู อนุทิน ชาญวีรกูล ที่ตอนนี้มี 2 ส.ส.กทม.อดีตอนาคตใหม่เข้ามา คือ โชติพิพัฒน์ เตชะโสภณมณี และมณฑล โพธิ์ค่าย แม้คนจะมองว่าทั้ง 2 คนเข้ามาได้ เพราะกระแสอนาคตใหม่ตอนปี 2562 แล้วย้ายมาภูมิใจไทยหลังอนาคตใหม่โดนยุบพรรค ท่ามกลางกระแสข่าวเรื่องงูเห่า แต่ก็พบว่าที่ผ่านมาทั้ง 2 คน พอย้ายมาภูมิใจไทยก็ทำพื้นที่อย่างหนัก เพราะได้แรงอัดฉีดจากภูมิใจไทยให้ทั้ง 2 คนเป็นหัวหอกให้ภูมิใจไทยปักธงใน กทม.ให้ได้ในการเลือกตั้งรอบหน้า อีกทั้งภูมิใจไทยก็มีข่าวว่าเสี่ยหนูกำลังดูตัวผู้สมัครอีกหลายคนที่คิดว่าพอจะส่งลงแล้วพอไปช่วยทำแต้มในบัตรลงคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ให้ได้บ้าง

เท่ากับเลือกตั้งรอบหน้า สนามเลือกตั้ง กทม.จะมีประมาณร่วม 8 พรรคการเมืองหวังผล

คือพลังประชารัฐ-เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์-ก้าวไกล-สร้างอนาคตไทย-กล้า-ไทยภักดี-ไทยสร้างไทย และอีกหนึ่งพรรคหวังสอดแทรกคือ ภูมิใจไทย

ขนาดสนามเลือกตั้งยังไม่เปิด แต่ก็เห็นเค้าลางถึงความมันส์ยกร่องของสนามเลือกตั้ง กทม.แล้ว

ส่วนการเดินหน้าขับเคลื่อนพรรคสร้างอนาคตไทยต่อจากนี้ ยังต้องจับตากันต่อไปหลังที่ผ่านมามีกระแสข่าวว่าจะมี กลุ่มการเมือง อีกหลายกลุ่มกำลังตัดสินใจอาจจะมาร่วมงานการเมืองกับ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และพรรคสร้างอนาคตไทย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มกำแพงเพชร ของวราเทพ รัตนากร, กลุ่มชลบุรี ของสนธยา คุณปลื้ม, กลุ่มอดีต ส.ส.กทม.และอดีต ส.ก.บางส่วนที่กำลังอยู่ระหว่างการเจรจาพูดคุย เช่น วิลาศ จันทรพิทักษ์ อดีต ส.ส.กทม.หลายสมัยของประชาธิปัตย์ รวมถึงพวก ส.ส.ปัจจุบันที่มีปัญหากับคนในพรรคต้นสังกัดและอาจย้ายมา เช่น อันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานี พรรคประชาธิปัตย์ ที่เดิมอาจจะย้ายไปพรรคประชาชาติ แต่ข่าวว่าเกิดปัญหาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนกับคนในพรรคประชาชาติเดิม เลยมีข่าวว่าอาจจะเบนเข็มมาพรรคสร้างอนาคตไทยแทน เป็นต้น

ส่วนที่หลายคนยังสงสัยว่า พรรคสร้างอนาคตไทยและแกนนำพรรคอย่าง ดร.สมคิด-อุตตม-สนธิรัตน์ รวมถึงแนวทางพรรคที่ประกาศว่าเป็นพรรคการเมืองแบบกลางๆ ไม่ซ้ายสุดขั้ว ไม่ขวาสุดโต่ง อาจขับเคลื่อนได้ยากในยุคที่คนในสังคมยังมีความคิดเห็นทางการเมืองแบ่งเป็น 2 ขั้ว

อย่างไรก็ตาม แกนนำพรรคสร้างอนาคตไทย นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีต ส.ส.พัทลุง 8 สมัย มั่นใจว่า แนวทางดังกล่าวจะตอบโจทย์ความรู้สึกของประชาชนจำนวนไม่น้อยที่เริ่มเบื่อพรรคการเมืองแบบเก่าๆ เบื่อความขัดแย้งทางการเมือง และต้องการเห็นการเมืองแบบใหม่

"ประชาชนส่วนหนึ่งเบื่อความขัดแย้ง เพราะเราอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งอย่างน้อยที่สุดก็ร่วม 16 ปีแล้ว ตั้งแต่มีการยึดอำนาจจากคณะ คมช.เมื่อปี 2549 มาถึงปัจจุบันปี 2565 ผ่านมา 16 ปี เราจะอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งที่แบ่งประชาชน ที่นิยมชมชอบพรรคการเมืองแบ่งเป็น 2 ขั้วแบบนี้ต่อไปไม่ได้แล้ว

พรรคหวังคน 2 กลุ่ม กลุ่มแรก คือกลุ่มคนที่เป็นกลางจริงๆ เบื่อความขัดแย้งแล้ว ผมคิดว่าเราจะได้แนวร่วมจากคนเหล่านี้ ซึ่งคนที่ไม่เอาทั้ง 2 ข้าง ไม่เอาพรรคการเมืองเก่า เปอร์เซ็นต์พบว่ามีเพิ่มขึ้นเรื่อย และต้องมองในมุมดีว่า คนที่อยู่สุดขั้วทั้ง 2 ข้าง เริ่มเบื่อแล้ว คนที่ไปซ้ายสุดก็เริ่มเบื่อแล้ว ที่อาจมองว่าไม่มีโอกาสที่จะชนะเลย หรือคนที่อยู่ขวาสุดก็เช่นกัน อาจมองว่าไม่เห็นโอกาสที่จะชนะเลย คนจากทั้ง 2 กลุ่มก็จะเดินออกจากฟากของตัวเองมาอยู่ตรงกลางมากขึ้น เราหวังให้คนเหล่านั้นเห็นด้วยกับสร้างอนาคตไทย"

แนวทางการเมืองแบบ ไม่ซ้ายสุดขั้ว-ไม่ขวาสุดโต่งแบบพรรคสร้างอนาคตไทย หลังจากนี้จะมีอะไรให้คนร้องว้าว และมีเซอร์ไพรส์อะไรออกมาให้แวดวงการเมืองฮือฮาเป็นระยะได้หรือไม่ คงต้องรอติดตามกันต่อไป. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

7 เดือน ‘รัฐบาลเศรษฐา’ เผชิญแรงบีบรอบด้าน!

แม้จะยังไม่ผ่านโค้งแรกในการบริหารประเทศของรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่เริ่มต้นทำงานได้เพียง 7 เดือน แต่ก็เหมือนถูกบีบจากสถานการณ์รอบด้าน ที่เข้ามาท้าทายความสามารถของผู้นำประเทศ อีกทั้งยังมีภาพนายกฯ ทับซ้อนที่ทำให้นายกฯ นิดดูดร็อปลงไป

'ทักษิณ' เอฟเฟกต์! ส่อทำการเมืองไทยวนลูปเดิม

ช่วงที่ผ่านมาแม้จะมีประเด็นข่าวร้อนแรงมากมายแค่ไหน แต่มีบุคคลหนึ่งที่ถ้าอยู่ในหน้าข่าวเมื่อไหร่ มักจะสร้างประเด็นดรามาที่ต้องพูดถึงไม่หยุดกับพ่อใหญ่แห่งพรรคเพื่อไทย ทักษิณ ชินวัตร

สว.2567 เสี่ยงได้ วุฒิสภา สายพรรคการเมือง เชื่อมโยงผู้มีอิทธิพลในพื้นที่

เข้าสู่ช่วงเตรียมนับถอยหลังใกล้โบกมือลา สิ้นสุดการทำหน้าที่ของ สมาชิกวุฒิสภา ชุดปัจจุบันจำนวน 250 คน ที่จะหมดวาระลงในวันที่ 10 พ.ค. แต่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าจะมี สว.ชุดใหม่เข้าปฏิบัติหน้าที่

หาก ‘ไผ่’ วืด ‘เบนซ์’ เต็งหนึ่งรมต. เสียบแทน ‘โควตากลาง’ พปชร.

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ มั่นใจว่าคุณสมบัติของ นายไผ่ ลิกค์ สส.กำแพงเพชร และกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ ยังนั่งเป็นรัฐมนตรีได้ แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีมติไม่รับคำร้อง กรณีนายไผ่ขอร้องศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ถูก 4 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และผู้ตรวจการแผ่นดิน ละเมิดจนไม่สามารถเป็นรัฐมนตรีได้ กรณีระบุว่า ขาดคุณสมบัติ

ครม.เศรษฐา 2 ทักษิณเคาะโผ ฉากทัศน์กองทัพยุค "บิ๊กนิด"

ชัดเจนแล้วว่า ครม.เศรษฐา 2 ที่จะเป็นการปรับ ครม.ครั้งแรกของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน จะเกิดขึ้นแน่นอน โดยคาดว่า อาจจะเกิดขึ้นภายในปลายเมษายนนี้ หรือช้าสุดไม่เกินกลางเดือน พ.ค. เว้นแต่มีสถานการณ์แทรกซ้อนทำให้การปรับ ครม.อาจขยับออกไปได้

ลดความเสี่ยง‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ปรับ ครม.เค้นผลงานรัฐบาล

เรือธง ล้มไม่ได้ เพราะมีผลต่อเครดิตของพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะในปัจจุบันหรืออนาคต สำหรับโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท