จี้รบ.ดูแลค่าไฟ ทบทวน‘เอฟที’ เปลี่ยนเป้ารสก.

นักการเมืองพาเหรดเรียกร้องรัฐบาลดูแลเรื่องค่าไฟฟ้า หวั่นซ้ำเติมยุคแพงทั้งแผ่นดิน พรรคหญิงหน่อยกางกำไรรัฐวิสาหกิจพลังงาน จี้ให้เปลี่ยนเป้ากำไรมาดูแลประชาชน “ไตรศุลี” สอนเด็กเพื่อไทยเรื่องรถอีวี

เมื่อวันศุกร์ที่ 15 ก.ค. นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานพรรคชาติพัฒนา  (ชพน.) ให้สัมภาษณ์ถึงวิกฤตพลังงานว่า  ไฟฟ้าเป็นเรื่องใหญ่ และเป็นความเดือดร้อนของประชาชนเป็นอย่างมาก ซึ่งแม้พื้นฐานของปัญหามาจากโควิด และน้ำมันแพงก็เป็นต้นเหตุที่สำคัญ แต่รัฐบาลต้องเข้ามาดูแลและแก้ไข โดยมีมาตรการและความร่วมมือจากทุกฝ่าย โดยเรื่องค่าไฟ ขณะนี้คณะกรรมการกิจการพลังงานกำลังพิจารณาเรื่องค่าเอฟทีที่จะเก็บพี่น้องประชาชน ซึ่งมีข่าวไม่เป็นทางการว่าจะปรับค่าอีก 1 บาท เท่ากับขึ้น 4 เท่าในช่วงเวลา 4 เดือน จึงอยากให้คณะกรรมการหน่วยงานที่รับผิดชอบพิจารณาให้รอบคอบ อยากให้พิจารณาทบทวน

“นอกจากมาตรการชั่วคราวแล้ว เราควรดูโครงสร้างหลักของราคาค่าไฟไปด้วย ซึ่งต้องปรับแผนจากการผลิตไฟฟ้าที่ปัจจุบันให้น้ำหนักจากน้ำมันและแก๊สมาใช้พลังงานทดแทน พลังงานลม พลังแสงแดด ซึ่งเป็นพลังงานต้นทุนต่ำ ไม่ต้องซื้อ ซึ่งจะทำให้ภาพรวมค่าเอฟทีลดลงด้วย” นายสุวัจน์กล่าว

ขณะที่คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์  ประธานยุทธศาสตร์พรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) พร้อมด้วย น.ต.ศิธา ทิวารี ประธานคณะกรรมการอำนวยการและพัฒนา และนายนพดล มังกรชัย ประธานกรรมการฝ่ายวิชาการของพรรคร่วมกันแถลงข่าวเรื่องเปิดโปงขบวนการขูดรีดประชาชนกรณีการขึ้นค่าไฟฟ้า โดยคุณหญิงสุดารัตน์กล่าวว่า พรรคขอเสนอแนวทางลดค่าครองชีพให้ประชาชน 2 ประการคือ ประการแรก รัฐบาลต้องเปลี่ยนวิธีคิดโดยเปลี่ยนตัวชี้วัด KPI ใหม่ โดยขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีเปลี่ยนนโยบายหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวกับสาธารณูปโภคที่มุ่งเน้นนำกำไรเข้ารัฐ มาเป็นลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชนแทน และประการที่สอง รัฐบาลจำเป็นต้องเจรจากับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน ทั้งในประเทศและเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นกลุ่มทุนไทย และบางส่วนเป็นบริษัทลูกของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ให้ลดค่าความพร้อมจ่ายลงมา เพราะตรงนี้คือค่าใช้จ่ายมากที่สุดในระบบไฟฟ้าของไทยในปัจจุบัน

น.ต.ศิธากล่าวว่า เวลานี้ไทยเข้าสู่ยุคข้าวยากหมากแพงอย่างสมบูรณ์แบบ ค่าครองชีพ ค่าน้ำมันราคาแพง และค่าไฟกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยหน่วยงานที่ดูแลเรื่องการไฟฟ้า ทั้ง กฟผ., การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ที่เป็นรัฐวิสาหกิจในธุรกิจพลังงานไฟฟ้ากลับมีผลกำไรสะสมมหาศาลกว่า 6.6 แสนล้านบาท โดย กฟผ.มีกำไรสะสมอยู่ที่ 3.74 แสนล้านบาท, กฟน.มีกำไรสะสม 1.1 แสนล้านบาท และ กฟภ. มีกำไรสะสม 1.8 แสนล้านบาท ในขณะที่ประชาชนต้องรับภาระค่าไฟฟ้าแพงอย่างแสนสาหัส แต่ 3 การไฟฟ้ามีกำไรจำนวนมาก ขณะที่ตัวเลขของบริษัทลูกของ กฟผ. พบว่าบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) (EGCO) มีกำไรสะสม 5.5 หมื่นล้านบาท และบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (RATCH) มีกำไรสะสม 3.7 หมื่นล้านบาท 

 “ในสมัยที่เป็นประธานบอร์ดบริหารการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจเกรดเอที่ต้องส่งเงินเข้ารัฐ แต่การบริหารงานในเวลานั้น เรามุ่งเน้นผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก โดยเที่ยวบินภายในประเทศ ทอท.ยอมขาดทุนประมาณ 150 บาทต่อคน เพื่อลดค่าใช้จ่ายภาคประชาชนและสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศ แต่ไปมุ่งเน้นการทำกำไรกับเที่ยวบินต่างประเทศเพื่อมาชดเชย ซึ่งเป็นตัวอย่างให้เห็นว่าแม้จะเป็นรัฐวิสาหกิจเกรดเอ ก็สามารถดำเนินการเพื่อลดภาระประชาชน และประกอบกิจการมีผลกำไรได้” น.ต.ศิธาระบุ

ด้านนายนพดลกล่าวว่า ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายการประกอบกิจการพลังงานนั้น รัฐพึงปกป้องผลประโยชน์ของผู้ใช้พลังงาน ทั้งในเรื่องอัตราค่าบริการที่ต้องมีระดับราคาที่เหมาะสมเป็นธรรม ดังนั้นรัฐบาลต้องกลับมาดูวัตถุประสงค์เดิมเป็นหลัก เพื่อหยุดการเน้นสร้างกำไร แต่ต้องหันมาดูแลประชาชนให้มากขึ้น ในยามวิกฤตที่ประชาชนต่างได้รับความลำบากเช่นนี้

นายสันติ กีระนันทน์ รองหัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย (สอท.) โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า จากที่ได้ติดตามตัวเลขที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ เช่น ราคาน้ำมันดิบ อัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา รวมถึงตลาดพันธบัตรสหรัฐ เห็นชัดถึงความกังวลว่าจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งสหรัฐมีระบบเศรษฐกิจใหญ่ย่อมส่งผลต่อโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ พายุรุนแรงทางเศรษฐกิจก่อตัวขึ้นอย่างชัดเจน ประเทศไทยคงถูกโหมกระหน่ำอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก

 “เวลานี้ไม่ใช่เวลาพูดถึงเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือเรื่องการสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว แต่ต้องหาวิธีว่าจะรับมือกันต่อสู้ความผันผวนของพายุเศรษฐกิจที่กำลังโหมกระหน่ำให้รอดชีวิตกันไปได้อย่างไร” นายสันติระบุ

วันเดียวกัน นายวิกรม เตชะธีราวัฒน์ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เชียงราย และคณะทำงานเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม แถลงยุทธศาสตร์ 3 แกนหลัก โดยมุ่งหวังให้ไทยเป็นฐานในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ในประเทศไทยว่า เป็นเพียงการขายฝัน เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ไม่มีนโยบายหรือมาตรการส่งเสริมการผลิตและการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร และการที่ค่าไฟฟ้าปรับตัวสูงขึ้น ที่จะสูงถึงหน่วยละ 5 บาท อาจจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่รถยนต์ไฟฟ้าไม่ได้รับความนิยมมากนักในประเทศไทย

นายวิกรมกล่าวอีกว่า รัฐบาลไม่มีการส่งเสริมการผลิตแบตเตอรี่ที่มีคุณภาพสูงแล้ว และแนวนโยบายในการจัดการขยะจากแบตเตอรี่ ซึ่งรถยนต์ไฟฟ้าเกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ พล.อ.ประยุทธ์เพิ่งจะมานึกได้ รัฐบาลทิ้งโอกาสการลงทุนไปแล้ว เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้เข้าใจเรื่องรถ EV จริง แต่พูดตามบทที่มีคนเขียนให้ ทำให้ไม่รู้ว่าหัวใจสำคัญของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าคือ การผลิตแบตเตอรี่และไมโครชิปในประเทศ จึงอยากเตือนไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ว่าตื่นจากฝันได้แล้ว

ด้าน น.ส.ไตรศุลี ไตรสรกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ ออกมาตอบโต้เรื่องนี้ว่า นายกฯ มีนโยบายและวางแผนงานเพื่อผลักดันให้ไทยเป็นฐานผลิตรอีวีมาตั้งแต่ปี 2558 โดยกำหนดให้เป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อเป็นกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอนาคต และมีการวางแนวทางขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ หรือคณะกรรมการอีวี ขึ้นมาดูแล และขณะนี้มีมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่มีผลบังคับใช้แล้วอย่างครบวงจร  

 “ที่นายวิกรมบอกว่าคณะทำงานด้านเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยได้ศึกษาโอกาสและความเป็นไปได้ เรื่องอุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานไฟฟ้ามา 3-4 ปีแล้ว นับเป็นเรื่องที่ดีที่ทีมเศรษฐกิจของพรรคต่างๆ จะได้ร่วมกันในการหาแนวทางพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ ซึ่งในเรื่องยานยนต์ไฟฟ้านี้ ท่านนายกฯ มีนโยบายมาตั้งแต่แต่ปี 2558 และมีแผนงานผลักดันต่อเนื่องมาโดยลำดับ จนขณะนี้มีมาตรการส่งเสริมการลงทุนและมาตรการรองรับ และความร่วมมือกับภาคเอกชนโดยครบวงจรแล้ว” น.ส.ไตรศุลีกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง