ฝ่ายค้านเสียท่ารบ. ส่งศาลชี้ขาดพรก.

สภาชะลอพิจารณา พ.ร.ก.ขยายใช้ กม.ป้องกันอุ้มหาย หลัง ส.ส.รัฐบาลเข้าชื่อร้อง "ปธ.ชวน" ให้ส่งศาล รธน.วินิจฉัย “ชลน่าน” โวยใช้กลไกศาลเตะถ่วงบังคับใช้ พ.ร.บ. ซัดแรงอุ้มหายโดย ครม. “ชินวรณ์” อ้างเพื่อให้เกิดความชัดเจน บอกเป็นครั้งแรกพรรคร่วม รบ. ยื่นร้องกฎหมาย ครม.

ที่รัฐสภา วันที่ 28 ก.พ. มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเป็นพิเศษ เพื่อพิจารณาพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ปรากฏว่าเมื่อถึงเวลานัดหมาย 09.30 น. นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาฯ คนที่สอง ทำหน้าที่ประธานการประชุม แจ้งว่าสมาชิกยังมาลงชื่อประชุมไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสมาชิกเท่าที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ หากเกินกึ่งหนึ่งหรือ 203 คนแล้วจะกลับมาเปิดประชุมอีกครั้ง

ต่อมาเวลา 10.05 น. นายศุภชัยได้เปิดประชุม และเริ่มเข้าสู่การพิจารณาเรื่องด่วน พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ เวลา 10.15 น. โดยมีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวชี้แจงหลักการและเหตุผลว่า เมื่อการทำงานเกิดข้อขัดข้อง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายได้คำนึงถึงผลร้ายที่จะตามมา หากปล่อยให้ดำเนินการด้วยความไม่พร้อม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชาชนและสาธารณะโดยตรง ทั้งการบันทึกพยานระหว่างควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ จนอาจทำให้เกิดการโต้แย้งในชั้นดำเนินคดี ส่งผลให้การจับกุมไม่ชอบด้วยกฎหมาย การบังคับใช้ขาดประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นผลร้ายแรงต่อสังคม อีกทั้งเจ้าหน้าที่ยังต้องเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดีทั้งทางอาญาและทางวินัย ดังนั้นจึงถือว่ามีความเร่งด่วนอันหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 172 ต้องออก พ.ร.ก.แก้ไข พ.ร.บ.อุ้มหายฯ เพื่อการชะลอการใช้มาตรา 22-25 เป็นการชั่วคราว ให้หน่วยงานต่างๆ ได้เตรียมความพร้อมปฏิบัติตาม พ.ร.บ.อุ้มหายฯ

"ส่วนมาตราอื่นๆ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 ก.พ.2566 พบหากเจ้าหน้าที่กระทำผิด จะต้องถูกดำเนินคดีและลงโทษตามกฎหมาย การขอชะลอบางมาตราไม่ได้ทำให้เกิดการงดเว้นการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด จึงขอให้ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาพ.ร.ก.นี้" นายสมศักดิ์กล่าว

จากนั้น นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านฯ อภิปรายตอนหนึ่งว่า การชะลอการบังคับใช้มาตรา 22-25 ไปให้มีผลบังคับใช้วันที่ 1 ต.ค.2566 หรือช่วงปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ทั้งที่มาตราเหล่านี้สำคัญเรื่องการคุ้มครองสิทธิผู้ถูกจับกุมตัวที่ต้องมีหลักฐานบันทึกทั้งภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องในขณะที่จับกุมและควบคุมตัว เพื่อความโปร่งใสและตรวจสอบได้ พรรคร่วมฝ่ายค้านจึงไม่เห็นด้วยกับการตรา พ.ร.ก.นี้

นายสุทัศน์ เงินหมื่น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) อธิบายว่า แม้พรรค ปชป.ยังไม่ได้มีมติว่าจะให้อนุมัติการออก พ.ร.ก.ที่มาเลื่อนการบังคับใช้ 4 มาตรา พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมานและอุ้มหาย แต่ตนไม่อนุมัติ พ.ร.ก.นี้ด้วยเหตุผลว่า พ.ร.บ.นี้เป็นกฎหมายที่รัฐบาลและสภาแห่งนี้เสนอเพื่อให้เกิดการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

ส.ส.รัฐบาลยื่นส่งศาล รธน.

"หน่วยงานที่มาชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน หน่วยงานที่ถูกเชิญมาก็ให้ความเห็นชอบกฎหมาย ไม่มีใครโต้แย้งหรือมีการท้วงติงเรื่องงบประมาณและวิธีปฏิบัติ แต่คำชี้แจงเพื่อขอให้มีการออก พ.ร.ก.มาเลื่อนใช้ พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมานและอุ้มหาย กลับถูกส่งมาจาก สตช. ผ่านกรมคุ้มครองสิทธิฯ และไปต่อที่สมศักดิ์ แล้วก็ถูกเสนอต่อไปที่ ครม. จึงมีข้อสงสัยว่าข้อมูลที่ ผบ.ตร.ส่งให้กรมคุ้มครองสิทธิฯ นั้นถูกต้องหรือไม่ แล้วข้อมูลที่เสนอต่อ ครม.นั้นสมบูรณ์แล้วหรือไม่ และ ครม.เองได้ตรวจสอบข้อมูลที่รับมาแล้วหรือยัง" นายสุทัศน์กล่าว

น.ส.เพชรดาว โต๊ะมีนา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้เป็นเหมือนแสงสว่างของการป้องกันการซ้อมทรมานและอุ้มหายและ 4 มาตราที่จะถูกเลื่อนใช้ออกไปก็เป็นหัวใจสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ จึงคัดค้านการเลื่อนใช้มาตลอด

 “การเลื่อนไปทุกนาที ทุกชั่วโมง ทุกวันมีความหมายกับชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน การเลื่อนเป็นการซื้อเวลาความไม่ปลอดภัยของสาธารณะจะเกิดขึ้นถ้าเลื่อน 4 มาตราของหมวด 3 นี้ออกไป เหตุผลที่อ้างไม่ได้ฉุกเฉิน ไม่ได้เร่งด่วน  ไม่ได้จำเป็นในการที่จะเลื่อน ดิฉันและพรรคภูมิใจไทยไม่อนุมัติและไม่เห็นด้วยการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก.ฉบับนี้” น.ส.เพชรดาวกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการอภิปรายของ ส.ส.ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านต่างแสดงความไม่เห็นด้วย เพราะมองว่าเป็นการละเมิดหลักการคุ้มครองประชาชน และการตรา พ.ร.ก.ดังกล่าวไม่เข้าข่ายเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญกำหนด พร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่าการไม่เตรียมพร้อมของหน่วยงานเพื่อเตรียมตัวการทำงานให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดนั้น เป็นการละเลยของหน่วยงาน ดังนั้นการตรา พ.ร.ก.ดังกล่าวเพื่อแก้ปัญหาให้กับหน่วยงานรัฐ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการหลีกเลี่ยงการใช้กฎหมายที่อาจจะมีผลกระทบต่อการสร้างความยุติธรรมให้ประชาชนที่ถูกจับกุมดำเนินคดีหรือไม่

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ชี้แจงถึงสาเหตุและความเป็นมาของพ.ร.ก.ฉบับนี้ว่า แม้จะจัดซื้อกล้องมาตั้งแต่ปี 2562-2565 รวมกว่าแสนตัว ก็ยังมีไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติหน้าที่ รวมถึงยังมีปัญหาในข้อปฏิบัติต่างๆ มากมาย นอกจากนี้ ระเบียบกลางของกฎหมายนี้ ก็ยังทำไม่แล้วเสร็จ เพราะมีการโต้แย้งกันระหว่างหน่วย จนอาจส่งผลต่อการศรัทธาและความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรม เพราะยังมีความเห็นไม่ลงตัวในหลายประเด็น และยังไม่มีการซักซ้อมการจับกุมของผู้ปฏิบัติงาน ทาง สตช.จึงแจ้งไปยังนายกฯ และนำมาสู่การออก พ.ร.ก.ฉบับนี้ ที่เป็นการเลื่อนการบังคับใช้เพียง 4 มาตราคือ มาตรา 22-25 ซึ่งไม่กระทบกับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตามที่กังวลกัน

กระทั่งเวลา 13.20 น. นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ทำหน้าที่ประธานการประชุม แจ้งว่า ขณะนี้มีสมาชิกจากฝ่ายรัฐบาลเข้าชื่อขอให้ส่ง พ.ร.ก.ดังกล่าวต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย ซึ่งจากการตรวจรายชื่อในคำร้อง ปรากฏว่ามีจำนวนสมาชิกตรวจสอบลายมือชื่อจำนวน 100 คน ซึ่งไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของ ส.ส.เท่าที่มีอยู่ทั้งหมด ดังนั้นเพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญกำหนด จึงให้ที่ประชุมสภารอการพิจารณาก่อน จนกว่าจะศาลจะมีคำวินิจฉัย

ฝ่ายค้านโวยเตะถ่วง

นพ.ชลน่านลุกขึ้นกล่าวว่า น่าเสียใจที่กระบวนการพิจารณาของเราไม่แล้วเสร็จ แนวโน้มการอนุมัติจากการฟังสมาชิกทุกคนคัดค้าน ดังนั้นการลงมติเสียงส่วนใหญ่น่าจะไม่อนุมัติ การยื่นเรื่องนี้เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยของสมาชิกฝ่ายรัฐบาล จำเป็นต้องตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าสภาแห่งนี้จะอนุมัติ พ.ร.ก. ซึ่งยื่นโดย ครม.ที่ควบคุมเสียงข้างมากในสภา นั่นหมายถึงต้องการให้มีการอนุมัติ แต่เมื่อคาดการณ์ว่า พ.ร.ก.จะถูกคว่ำ ก็ไปอาศัยกลไกศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อดึงจังหวะเวลาออก เป็นการบันทึกประวัติศาสตร์รัฐสภาว่า ชงโดยครม. กินโดย ครม. และอุ้มหายโดย ครม.เอง

"สิทธิในการยื่นเพื่อไม่ให้อนุมัติควรเป็นเสียงตรงข้ามว่าไม่ควรอนุมัติ ถ้ารัฐบาลอนุมัติ ฝ่ายค้านจึงจะยื่น ทุกคนเห็นเหมือนกันหมดว่าไม่อนุมัติ การยื่นครั้งนี้แปลเจตนาอื่นไม่ได้ นอกจากอาศัยกลไกของศาลที่จะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 60 วันในการวินิจฉัย หรือแปลว่ามีเวลา 2 เดือนระงับ พ.ร.บ.นี้ไว้ ระหว่างนี้ก็ใช้ พ.ร.ก.ที่รัฐบาลออกไว้ ส่งต่อไปถึงรัฐบาลชุดหน้า ถ้าในช่วงเลือกตั้งเกิดความเสียหายจากการระงับใช้ พ.ร.บ. สมาชิกที่ร่วมลงชื่อเพื่อยื่นต่อศาลต้องรับผิดชอบ" ผู้นำฝ่ายค้านฯ ระบุ

ด้านนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรค ปชป. ในฐานะรองประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า เมื่อฝ่ายรัฐบาลได้ลงชื่อเพราะเห็นว่าการออก พ.ร.ก.ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 172 จึงมีความจำเป็นต้องยื่นต่อศาลเพื่อวินิจฉัยให้เกิดความชัดเจน อย่างไรก็ตาม พ.ร.ก.นี้ไม่เพียงแต่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.เท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับพันธกรณีที่จะต้องดำเนินการ พวกตนเป็น ส.ส. มีจิตสำนึกในหลักนิติธรรม สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพของประชาชน ฉะนั้นจึงอยากให้ผู้นำฝ่ายค้านฯ เคารพสิทธิในการดำเนินการเข้าชื่อ

 “การยื่นให้ศาลเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 173 เป็นการลดระยะเวลาในการคุ้มครอง ถ้าปล่อยไปกฎหมายจะบังคับใช้เดือน ต.ค. แต่ถ้ายื่นศาลใช้เวลาเพียง 2 เดือน ก็จะมีคำวินิจฉัยออกมา และครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลร่วมกันยื่นร้องกฎหมายที่ฝ่ายบริหารเป็นผู้เสนอ” นายชินวรณ์กล่าว 

นายชวนกล่าวว่า ขอบคุณทุกฝ่ายตลอดระยะเวลา 4 ปี ทุกฝ่ายทำงานหนัก ทราบดีเพราะเป็นผู้แทนฯ มา 16 สมัย ประธานรัฐสภา 2 ครั้ง ที่จริงควรประกาศผลงาน อยากบอกว่าสิ่งที่เป็นผลดีเกิดขึ้นต่อประชาชน ท่านทั้งหลายเป็นผู้ริเริ่ม สุดท้ายหวังว่าแม้เราจะไม่มีโอกาสกลับมาทุกคน แต่ขอให้สมาชิกทำหน้าที่ของตัวเองต่อไป การเมืองไม่มีอะไรแน่นอน คนที่ค้านวันนี้อาจได้เป็นรัฐบาลในวันข้างหน้า คนที่เป็นรัฐบาลขณะนี้อาจเป็นฝ่ายค้านในขณะนั้น เราพูดอะไรไปว่าไม่ดีวันนี้ วันนั้นก็ต้องไม่ดีตามด้วย อะไรที่ดีวันนี้ วันนั้นก็ต้องดี ขออวยพรให้ทุกคนประสบความสำเร็จ

จากนั้นนายชวนได้ขอให้เลขาธิการสภาฯ อ่านพระบรมราชโองการพระราชกฤษฎีกาปิดสมัยประชุมรัฐสภา สมัยประชุมสามัญประจำปี ครั้งที่ 2 พ.ศ.2566  จากนั้นได้สั่งปิดประชุมในเวลา 13.41 น.

นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า สิ่งที่แปลกประหลาดและไม่คิดว่าจะเกิดขึ้น คือเรื่องนี้เริ่มต้นจากรัฐบาล สับสนโดยรัฐบาล และจบโดยรัฐบาล ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดและไม่น่าเกิด แสดงว่าเอากระบวนการนิติบัญญัติหรือนิติวิธีของสภามาเป็นของเล่น เราในฐานะฝ่ายค้านก็สับสนด้วย

 “เราคิดว่าคุณเสนอกฎหมายมา คุณก็ต้องผลักดันกฎหมายคุณ แต่ที่ไหนได้ คุณกลับยับยั้งกฎหมายของคุณเอง แสดงว่ารัฐบาลสับสนในตนเองอย่างหนัก ในรอบ 2-3 เดือนที่ผ่านมา ฉะนั้นจึงขอตำหนิท่านนายกฯ และฝ่ายกฎหมาย นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ และ ส.ส.รัฐบาลทุกคน ไม่น่าทำให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น ซึ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น หมายความว่ากฎหมายนี้ไม่ทันพิจารณาในสมัยประชุมนี้ เพราะเชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญจะใช้เวลาพิจารณาไปสักระยะ ฉะนั้นจึงต้องข้ามไปสมัยหน้า" นายสุทินกล่าว

ประธานวิปฝ่ายค้านกล่าวว่า เรื่องพ.ร.ก.เป็นกฎหมายที่หากไม่จำเป็นก็ไม่ควรออก การออกกฎหมายควรออกโดยกระบวนการของประเทศที่สมบูรณ์ คือผ่านการพิจารณาของทั้ง 2 สภา 6 วาระ แต่ พ.ร.ก.ที่รัฐบาลออกเองต้องออกในวาระที่จำเป็นที่สุด และรอบคอบที่สุด และคุณต้องรับผิดชอบสูงสุดหากเกิดอะไรผิดพลาด

"วันนี้ผมคิดว่ารัฐบาลต้องรับผิดชอบในสิ่งที่คุณคิดมาและคิดผิด คือลาออกแล้วยุบสภา และผมคิดว่ารัฐบาลก็คิดเป็นของเล่นอีกว่า ลาออกแล้วยุบสภาวันนี้ไม่มีประโยชน์ อย่างไรก็จะไปอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ฉันจะทำอะไรก็ทำได้ ทั้งนี้ นายกฯและรัฐบาลชุดนี้ทำให้สภาเสียหายมาจนถึงนาทีสุดท้าย” ประธานวิปฝ่ายค้านกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง