"จุรินทร์" แนะแก้รัฐธรรมนูญปมจริยธรรม โยนระเบิดทิ้งไปแล้ว อย่าเก็บเอามากอดไว้อีก ด้าน "อัครเดช" ย้ำไม่จำเป็นต้องเร่ง ชี้ปัญหาความเดือดร้อนประชาชนสำคัญกว่า ขณะที่ "นันทนา" เผยร่าง พ.ร.บ.ประชามติยังไม่ถูกส่งกลับให้ สส. ข้องใจเป็นแผนเตะถ่วงของ สว. ชี้ประชามติรอบแรกต้นปี 68 ไม่ทันแน่
เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2567 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราเรื่องจริยธรรมว่า การที่หลายพรรคการเมืองตัดสินใจยุติการเดินหน้าเรื่องนี้เพื่อลดการถูกกล่าวหาว่าแก้รัฐธรรมนูญเพื่อตัวเอง เป็นเรื่องที่ดีและสอดคล้องกับสถานการณ์ที่ประเทศยังมีปัญหาเฉพาะหน้าที่จะต้องเร่งแก้ไขจำนวนมาก โดยเฉพาะในเรื่องน้ำท่วมและเศรษฐกิจ ที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ที่คุกคามประเทศอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งเมื่อหมดแรงขับจากการแจกเงินหมื่นแล้วปัญหาเดิมก็จะกลับมาปะทุอีก จึงควรมีแนวทางที่ชัดเจนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจคู่กับการแก้ปัญหาไว้ล่วงหน้าที่ตรงจุด
นายจุรินทร์กล่าวถึงการแก้รัฐธรรมนูญรายมาตราปมจริยธรรมว่า การถอยเรื่องนี้จากการแสดงออกของหลายพรรคการเมืองคือการถอดสลักระเบิด แต่ถ้าจะเดินหน้าต่อไปอีกให้ได้ มันก็จะเหมือนไปเอาระเบิดที่พร้อมระเบิดมากอดไว้กับตัวอีก เพราะนอกจากจะเป็นการตอกย้ำการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อตัวเองที่ประชาชนไม่ได้อะไรแล้ว ยังเป็นการแก้ที่ทำมาตรฐานการเมืองที่กำลังสูงขึ้นให้ลดต่ำลงไปอีกด้วย
ด้านนายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี ในฐานะโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ เปิดเผยว่า จากที่มีการรายงานข่าวถึงความเห็นของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ว่าเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นสามารถรอได้ ตนเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งกับความคิดเห็นดังกล่าว เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันประเทศกำลังเผชิญกับปัญหาอุทกภัยครั้งใหญ่ ทุกภาคส่วนควรเร่งใช้สรรพกำลังในการแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยน้ำท่วม รวมถึงเตรียมแนวทางการแก้ไขปัญหาหากเกิดเหตุซ้ำ
“สุดท้ายนี้ผมขอย้ำว่า เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ หรือเรื่องการเมืองนั้น มีระยะเวลากระบวนการทำงานของการแก้รัฐธรรมนูญอยู่ ไม่จำเป็นต้องไปเร่งรัดแต่อย่างใด สิ่งที่รัฐบาลต้องแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนคือปัญหาของประชาชน โดยเฉพาะพี่น้องประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วม” นายอัครเดชกล่าว
ขณะที่ น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การออกเสียงประชามติ พ.ศ..… วุฒิสภา กล่าวถึงกรณีวุฒิสภามีมติเห็นชอบให้แก้ไขร่าง พ.ร.บ.ประชามติ กลับไปใช้เสียงข้างมากสองชั้นในการแก้รัฐธรรมนูญว่า ขณะนี้ทางวุฒิสภายังไม่ได้ส่งร่างที่แก้ไขกลับไปให้สภาผู้แทนราษฎร ทั้งนี้ หากส่งไปแล้ว สส.มีท่าทียืนยันจะใช้เสียงข้างมากแบบง่าย ก็ต้องกลับมาตั้ง กมธ.ร่วมเพื่อพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งตนมองว่าเป็นการเตะถ่วง แทนที่จะรีบส่งไป เพราะ สว.มีมติตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย. แล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่า มองว่า สส.และ สว.จะตกลงกันในชั้น กมธ.ร่วมได้หรือไม่ สว.ผู้นี้ตอบว่า อำนาจอยู่ที่ สส. หาก สส.ยืนยันเรื่องเสียงข้างมากแบบง่าย กฎหมายฉบับนี้ก็ต้องรอไปอีก 180 วัน เพื่อยืนยันและประกาศใช้
เมื่อถามย้ำว่า หากเป็นเช่นนี้ก็ไม่ทันกรอบเวลาทําประชามติครั้งแรกในต้นปี 68 ใช่หรือไม่ น.ส.นันทนากล่าวว่า หากต้องตั้ง กมธ.ร่วม ก็ไม่ทันแล้ว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กมธ.ประชามติ สรุปใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น ชงรายงานให้ สส.-สว. ถ้าเห็นแย้งจะถูกแขวน 180 วัน
คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ นำโดย นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร สว. โฆษก กมธ., นายกฤช เอื้อวงศ์ โฆษก กมธ. และนายนิกร จำนง เลขานุการ กมธ. ร่วมกันแถลงถึงมติของกมธ.ร่วมกันฯ
สว.พันธุ์ใหม่ อ้างต่างประเทศใช้เกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้น ทำผลประชามติบิดเบือน
น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สว.กลุ่มพันธุ์ใหม่ แถลงจุดยืนถึงร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ว่า ไม่ว่ามติของคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ร่วมเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ จะออกมาเป็นอย่างไร
จงรักภักดีจนชีวิตหาไม่
"ในหลวง" เสด็จฯ ไปในพิธีสวนสนามของทหารรักษาพระองค์
‘บุญทรง’พ้นคุก คุมตัวที่บ้าน3ปี ชื่นชมลูกผู้ชาย
"บุญทรง" ได้พักโทษ พ้นคุก ใส่กำไลอีเอ็มกลับบ้านที่เชียงใหม่
รุมดีดปาก‘เชิดชัย’ขู่ยุบสภา
"ภูมิธรรม" โบ้ย "หมอเชิดชัย" ให้ไปยุบสภาเอง ยันอำนาจอยู่ที่นายกฯ
เมินเปิดเวทีถกMOU รอทีบีซีช่วยคนไทย
“ภูมิธรรม” ปัดทิ้งข้อเสนอ พปชร.เปิดเวทีสาธารณะถก MOU 44