มช - แอตแลนต้า ทุ่มทุนกว่า 1,000 ล้านบาท เปิดโรงงานปลูกกัญชาในระบบปิด เพื่อผลิตกัญชาทางการแพทย์

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ และ บริษัทแอตแลนต้า เมดดิคแคร์ จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายยาและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์จากต่างประเทศ มีความมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมยารักษาโรค โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ จึงได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการเพื่อผลิตสารสกัดกัญชาระดับ Medical Grade เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ โดยอาศัยทีมวิจัยที่เชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ในการวิจัยและพัฒนากัญชาทางการแพทย์ให้มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล ผลักดันสู่การใช้งานจริงเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วย และจากความร่วมมือวิจัยและพัฒนานี้จึงนำไปสู่การสร้าง และเปิดตัวโรงงานผลิตกัญชาทางการแพทย์ในวันที่ 15 สิงหาคม 2566

โดย ศ.เกียรติคุณ ดร.สัญชัย จตุรสิทธา สถาบันวิจัยพหุศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะผู้ประสานงานความร่วมมือในการพัฒนางานวิจัยเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ ได้กล่าวรายงานว่า โครงการความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง มช. และ บริษัท แอตแลนต้า เมดดิคแคร์ จำกัด เรื่อง วิจัย พัฒนา เพื่อผลิตสารสกัดกัญชาระดับ Medical Grade เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2562 เนื่องจากโรคร้ายแรงและโรคเรื้อรังหลายโรคในปัจจุบัน ยังไม่มียารักษาหรือบรรเทาอาการเจ็บป่วย เช่น โรคลมชักที่รักษายากและดื้อต่อยารักษา และโรคพาร์กินสัน ทำให้แพทย์ได้หันมาใช้ยาแผนปัจจุบันที่ผลิตจากพืชสมุนไพรโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์เข้ามาช่วยในการรักษา ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นต้องมีการวิจัยและพัฒนาการผลิตกัญชาเกรดการแพทย์ตลอดทั้งกระบวนการโดยอาศัยทีมวิจัยที่เชี่ยวชาญของ มช. ตั้งแต่ต้นน้ำ คือ การคัดเลือกพัฒนาสายพันธุ์และการวิจัยสภาวะในการปลูกที่เหมาะสม โดยคณะเกษตรศาสตร์ ส่วนกลางน้ำ คือ การสกัด และการควบคุมคุณภาพนำไปสู่การพัฒนาเป็นสูตรตำรับยา โดยคณะเภสัชศาสตร์ ไปจนถึงปลายน้ำ คือ การทดสอบทางคลินิกและการนำไปใช้ทางการแพทย์ โดยคณะแพทยศาสตร์ อีกทั้งยังมีการบูรณาการความรู้ระหว่างคณะ และหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอก เช่น อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศูนย์ศรีพัฒน์ คณะแพทยศาสตร์ เป็นต้น เพื่อส่งเสริมนวัตกรรมบูรณาการ และมุ่งเน้นให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า

ด้านนายศุภเดช อำนวยสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอตแลนต้า เมดดิคแคร์ จำกัด กล่าวว่า โรงงานผลิตกัญชาทางการแพทย์ ได้นำผลการวิจัยของ มช. มาใช้ในขั้นตอนการผลิตเชิงอุตสาหกรรม เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ที่มีคุณภาพสูง โดยลงทุนสร้างโรงงานพร้อมงบวิจัยและพัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมกว่า 1,000 ล้านบาท บนเนื้อที่ 16 ไร่ ที่ประกอบด้วย 2 อาคารหลัก ได้แก่ อาคารปลูก และอาคารผลิต อาคารปลูกกัญชาจะเป็นโรงเรือนปิดมีการใช้เทคโนโลยี Indoor Cultivation และปฏิบัติตามแนวทางของหลักเกณฑ์มาตรฐานสากล การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชสมุนไพร มกษ. 3502-2561และ Good Agricultural and Collection Practices (GACP) ภายใต้ห้องสะอาดระดับ Cleanroom Class D ที่สามารถปลูกกัญชาได้ผลผลิตดอกกัญชาแห้งเริ่มต้นไม่ต่ำกว่า 7,000 กิโลกรัมต่อปี อาคารผลิตใช้เทคโนโลยีการสกัดด้วยเครื่อง Supercritical CO2 ประสิทธิภาพสูง นำเข้าจากอเมริกา รวมถึงเครื่องจักร และอุปกรณ์ จากบริษัทชั้นนำของโลกที่ได้มาตรฐาน ภายใต้ข้อกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิตยา (GMP PIC/S) ซึ่งในช่วงเริ่มต้นจะสามารถผลิตยา Oral Liquid Dosage Form ได้ไม่ต่ำกว่า 220,000 ขวด ต่อปี รวมถึงการบูรณาการองค์ความรู้ และเทคโนโลยีขั้นสูงจากการวิจัยและพัฒนาของ มช. เพื่อให้ผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์มีประสิทธิภาพสูงสุด

ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ รองอธิการบดี ในฐานะผู้รับผิดชอบในการประสานงานและเจรจาเพื่อจัดทำตัวแบบธุรกิจและการนำผลงานไปใช้ประโยชน์ ได้กล่าวเสริมว่า ภายในงานเปิดตัวโรงงานฯ ในวันนี้ ยังได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การนำผลงานวิจัยที่พัฒนาขึ้นไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ โดยบริษัท อ่างแก้ว โฮลดิ้ง จำกัด ในฐานะบริษัทโฮลดิ้งของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ บริษัท แอตแลนต้า เมดดิคแคร์ จำกัด ได้จัดตั้งบริษัทร่วมทุน ในนาม บริษัท แคนน์ดู ฟาร์ม่า จำกัด เพื่อเป็นตัวแทนในการดำเนินการปลูก ผลิตผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ที่ได้จากผลงานวิจัยเข้าสู่ระบบโรงพยาบาลเพื่อใช้กับผู้ป่วยที่มีความต้องการใช้ในการรักษาทางการแพทย์ โดยสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ทุกล็อตที่มีการนำไปใช้งาน

ในฐานะประธานการเปิดโรงงาน ศ.ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กล่าวเปิดโรงงานปลูกและผลิตผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์และสรุปถึงความมุ่งมั่นในการร่วมมือ ว่า โรงงานปลูกและผลิตผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์มุ่งหวังที่จะผลิตผลิตภัณฑ์ยาจากสารสกัดกัญชาที่ผลิตได้เองภายในประเทศทุกกระบวนการ มีมาตรฐานครบถ้วน เพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ และต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมยาระดับโลก นอกจากนี้ มช. และบริษัทฯ ยังมีแนวทางจะพัฒนาต่อยอดงานวิจัยเพื่อพัฒนาสูตรตำรับยากัญชาทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง ให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ยากัญชาทางการแพทย์ในการรักษาโรคอื่น ๆ เช่น ผู้ป่วยที่มีภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด ภาวะปวดประสาท ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง อันจะนำไปสู่การเพิ่มคุณภาพชีวิตไม่เฉพาะเพื่อคนไทยแต่ยังเป็นประโยชน์ต่อคนทั้งโลก ดังแนวคิด “ผลิตโดยคนไทย มาตรฐานสากล เพื่อคนทั้งโลก”

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เริ่มแล้ว!! ประชุมระดับชาติ PM2.5 ครั้งแรกของประเทศ “สสส.–สกสว.–ศวอ.–มช.–สภาลมหายใจเชียงใหม่” สานพลัง 60 ภาคี เปิดเวทีถกประเด็น “อากาศสะอาด”

ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จ.เชียงใหม่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ

มช. โดยอ่างแก้ว โฮลดิ้ง ร่วมทุน ฮอร์แกไนซ์ Startup ศิษย์เก่า Platform การจัดการพื้นที่ให้เช่า อันดับ 1 ในประเทศไทย พร้อมลงนาม MOU เพื่อยกระดับการบริหารจัดการพื้นที่ใน มช. สู่ยุคดิจิตอล 4.0

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) และ บริษัท ฮอร์แกไนซ์ จำกัด บริษัทสตาร์ทอัพศิษย์เก่าของ มช. ภายใต้การบ่มเพาะผ่านโปรแกรม Basecamp 24 ของอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

มช. เปิดประตูล้านนาสู่ความประทับใจในระดับสากล ในงาน “Creative Lanna Marketplace”

มช. เปิดประตูล้านนาสู่ความประทับใจในระดับสากล ด้วยงานฝีมือจากภูมิปัญญาท้องถิ่นเมืองเหนือ ใน “Creative Lanna Marketplace” งานแสดงความสร้างสรรค์ที่จะครองใจทั้งชาวไทยและต่างประเทศ

มช. ร่วมมือ Kunming Medical University สานต่อความเข้มแข็งทางการแพทย์อย่างมีคุณภาพ ในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จับมือทางวิชาการร่วมกับ Kunming Medical University มหาวิทยาลัยชั้นนำทางการแพทย์ในมณฑลยูนนานของจีน สานต่อการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศ

นายกฯ ชื่นชม มช. เปิดตัว builds โปรแกรมปั้นสตาร์ทอัพในรั้วมหาวิทยาลัย

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้