ล่มอีกงบฯค้างสภา ส.ส.ครวญงานพื้นที่เยอะองค์ประชุมร่อแร่แต่เช้าตกคํ่าไปไม่รอด!

เมื่อไหร่จะผ่าน ขนาดประชุมสภาถกร่าง พ.ร.บ.งบฯ ปี 66 วาระ 2 ต่อวันที่สี่ สภาเกือบล่มตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่ม รอองค์ประชุมนานกว่าชั่วโมง บ่นกันพึม ส.ส.ทำงานหนัก บางคนติดภารกิจลงพื้นที่ สุดท้ายช่วงค่ำไปไม่รอด ล่มตามฟอร์ม นัดใหม่อังคารหน้า

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 20 สิงหาคม 2565 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 วงเงิน 3.185 ล้านล้านบาท ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว ในวาระ 2 ต่อเนื่องเป็นวันที่สี่ มีนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม ซึ่ง 3 วันที่ผ่านมา ที่ประชุมสภาฯ ได้พิจารณาถึงมาตรา 24 งบประมาณกระทรวงศึกษาธิการ จากทั้งหมดที่มี 40 มาตรา โดยมาตราดังกล่าวมีการแก้ไข มีกรรมาธิการขอสงวนความเห็น และมีผู้แปรญัตติขอสงวนคำแปรญัตติแล้วเสร็จแล้ว จำเป็นต้องลงมติมาตราดังกล่าว แต่ปรากฏว่าเมื่อเปิดการประชุมแล้วประธานที่ประชุมกดออดเรียกสมาชิกเข้าห้องประชุม และใช้เวลารอองค์ประชุมอยู่สักครู่ใหญ่

โดยนายศุภชัยกล่าวว่า สมาชิกที่เข้ามาถึงแล้วก็ช่วยเช็กองค์ประชุมด้วย ส่วนที่กำลังเดินทาง ขอให้เดินทางมาโดยเร่งด่วน ประธานยังรอ วันนี้มีเวลารอนาน อาจจะต้องรอถึงครึ่งวัน เพื่อภารกิจทำให้สำเร็จ เพราะนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ อยากให้ภารกิจของสภาพวกเราสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี เมื่อมันไม่จบตามที่ได้กำหนดกันเอาไว้ คือ 3 วัน 3 คืน ก็จำเป็นต้องจัดให้มีการประชุมในวันนี้

ขณะที่นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นหารือว่า การนัดประชุมเพิ่มเติมวันนี้ ทำให้สมาชิกหลายคนต้องขาดงานและเสียภารกิจที่นัดหมายไว้ ตนเข้าใจว่าองค์ประชุมยังขาดอีกมาก ขอให้วิปสองฝ่ายไปคุยกันก่อนว่าจะเดินไปอย่างไร ถ้าจะเดินต่อแล้วจะได้มั่นใจหน่อย ไม่ใช่เดินต่อแล้วมาตราหนึ่งต้องไปลุ้นต่ออีกมาตราหนึ่งขอให้วิปทั้งสองฝ่ายไปคุยกันให้เรียบร้อยแล้วแจ้งที่ประชุมให้ชัดเจน

ทั้งนี้ นายศุภชัยกล่าวว่า ขอให้วิปฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลปรึกษาหารือกันเพื่อให้เกิดความเข้าใจกัน ทำงานร่วมกันก็ต้องพยายามคุยกันให้มากๆ เพื่อหาทางออกและหาทางแก้ไข วันนี้เข้าใจว่าสมาชิกบางส่วนมีภารกิจที่นัดหมายในพื้นที่สำคัญ ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ อาจต้องลาประชุมบ้าง แต่ส่วนไหนที่เข้ามาทำหน้าที่ได้ก็ยังรอท่านอยู่ เพราะประธานสภาฯ ก็เข้าใจ แต่ภารกิจการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ จำเป็นต้องให้เสร็จตามห้วงเวลาเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

ขณะที่ น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์ ได้เสนอให้ประธานสั่งพักการประชุม เช่นเดียวกันนายอรรถกร ศิริลัทธยากร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ, น.ส.พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์, นายสุรทิน พิจารณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปไตยใหม่ ได้เสนอให้ประธานรอองค์ประชุมให้ครบก่อนลงมติ

สภาอลเวง

ด้าน ส.ส.พรรคเพื่อไทยและ ส.ส.พรรคก้าวไกล ต่างลุกขึ้นขอให้วิปสองฝ่ายไปหารือกัน และขอให้เลื่อนการประชุมสภาไปประชุมวันจันทร์ที่ 22 ส.ค.ได้หรือไม่ พร้อมกับโจมตีการทำหน้าที่ของประธานที่ประชุมว่าไม่สามารถบริหารจัดการประชุมให้ได้ จนทำให้ต้องมาเสียเวลารอองค์ประชุม

ขณะที่นายศุภชัยชี้แจงว่า เมื่อวานเราพักองค์ประชุมไปแล้ว ประธานยินดีที่จะนั่งรอ เพราะตอนนี้เหลือแค่ 30 กว่าคน เรารอเพื่อนเราที่กำลังเดินทางมาอีกระยะหนึ่ง ยืนยันว่ารอได้ เพื่อภารกิจวันนี้หลายคนต้องยอมทิ้งตั๋วเครื่องบิน เราต้องเสียสละกัน ตนเห็นใจทุกคน เพราะเมื่อวานกว่าจะพักการประชุมก็เป็นเวลาตีหนึ่งเศษๆ แล้ว ทำให้สมาชิกอาจจะมาช้าหน่อย

ต่อมาเวลา 10.52 น. ปรากฏว่าองค์ประชุมครบ ทำให้ที่ประชุมสภาฯ ดำเนินการลงมติมาตรา 24 งบประมาณกระทรวงศึกษาธิการ ผลปรากฏว่าที่ประชุมมีมติเห็นด้วย 220 ต่อ 62 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง และไม่ลงคะแนนเสียง 4 เสียง

 จากนั้นที่ประชุมได้เข้าสู่การอภิปรายมาตรา 25 งบประมาณกระทรวงสาธารณสุข ต่อมาเวลา 13.00 น. ก่อนลงมติมาตรา 25 งบประมาณกระทรวงสาธารณสุข นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ในฐานะคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ได้แจ้งที่ประชุมถึงผลการหารือของวิปฝ่ายค้านและวิปฝ่ายรัฐบาลว่า เบื้องต้นเหตุการณ์เมื่อคืนวันศุกร์ เกิดจากการที่เราไม่ได้พูดคุยกัน ตนในฐานะวิปพรรคร่วมฝ่ายค้าน พยายามสอบถามจากเพื่อนสมาชิกฝั่งรัฐบาลหลายครั้ง ถามว่าสรุปเราจะไม่คุยกันใช่หรือไม่ว่าเราจะเดินหน้าอย่างไร หากไม่จบการประชุมเราจะเลื่อนการประชุมไปเมื่อไหร่ สุดท้ายมีเพียงแค่การประชุมนอกรอบ ซึ่งทางฝั่งรัฐบาลก็ยังพูดไม่ตรงกัน

"บางคนบอกว่าจะเลื่อน บางคนจะเอาให้จบ บางคนบอกให้จบตีสาม จนเกิดความสับสน แต่ทางฝ่ายค้านยืนยันตามข้อตกลงเดิมคือจบการประชุมที่เวลาเที่ยงคืน จะเห็นได้ว่าหลังเที่ยงคืนการเดินหน้าของพวกเรามีปัญหามาตลอด ซึ่งเมื่อคืนก็ประชุมหลังเที่ยงคืน ลากมาจนถึงจะเช้า ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าจะจบหรือไม่ เหลืออยู่ 20 กว่ามาตรา มันไม่เกิดประโยชน์ใดๆ กับสภาแห่งนี้ เพราะทุกคนอ่อนล้า ประชาชนไม่สามารถติดตามดูได้ แต่ท่านอาจจะมั่นใจองค์ประชุมเสียงข้างมาก ตนโทษประธานทั้ง 3 คนว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ตัดสินใจว่าจะให้เราเดินหน้า ทั้งที่เราตัดสินใจว่าจะจบเที่ยงคืน"

ถกงบฯ รัฐวิสาหกิจ

นายจุลพันธ์กล่าวต่อว่า ทุกฝ่ายรู้ดีว่ากรอบเวลาการทำงานของเรามีเพียงพอถึงวันที่ 29 ส.ค. ไม่มีเหตุความจำเป็นต้องเร่งรัดให้ร่างกฎหมายดังกล่าวจบวันนี้ เพราะร่างงบประมาณฉบับนี้จบแน่นอน แต่จะจบก่อนกี่วันเราก็ไม่สามารถใช้งบประมาณได้ก่อน 1 ต.ค. เพราะมีค่าเท่ากัน แม้วันนี้จะนัดประชุมฉุกละหุก เพราะเกิดจากการพักประชุมอย่างกะทันหัน พักการประชุม 02.00 น. นัดอีกครั้ง 10.00 น. องค์ประชุมวันนี้ก็เป็นปัญหา แต่วันนี้เราจะร่วมกันเดินหน้าทำงานและเดินหน้าไปให้ไกลที่สุด วางเป้าพิจารณาจบมาตรา 36 และเลื่อนการประชุมมาตราที่เหลือเป็นวันที่ 23 ส.ค. เพื่อลงมติในช่วงบ่าย ตนอยากให้การลงมติวาระ 3 มากันครบถ้วน เพื่อให้เพื่อนสมาชิกทุกคนได้ใช้สิทธิ์ของตนอย่างครบถ้วน

ขณะที่ นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะวิปรัฐบาล กล่าวว่า เรื่องที่เกิดขึ้น การตกลงของวิปทั้ง 2 ฝ่ายมีการตั้งเป้าไว้ว่าจะพิจารณากฎหมายฉบับนี้ให้เสร็จภายใน 3 วัน โดยทางพรรคร่วมรัฐบาลก็พยายามที่จะทำให้ได้ตามที่เคยคุยกันไว้ ส่วนที่มีสมาชิกบางคนบอกว่ามีการที่รัฐบาลพยายามลากการประชุมให้ดึก เพื่อจะปิดปาก ขอเรียนว่า หากเราติดตามการประชุมทั้ง 3 วัน จะเห็นว่าเราเปิดโอกาส และขอขอบคุณประธานทั้ง 3 คนที่เปิดโอกาสให้สมาชิกได้ใช้เวลาในการอภิปรายอย่างกว้างขวางจริงๆ และวันนี้วิปทั้ง 2 ฝ่ายได้มีการพูดคุยกัน ขอชื่นชมสปิริตของประธานทั้ง 3 คน และสมาชิกทุกท่าน ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ที่แม้จะมีการนัดประชุมอย่างฉุกละหุก แต่อย่างไรวันนี้ก็มาร่วมกันทำหน้าที่ ซึ่งก็ตามที่นายจุลพันธ์ได้นำเสนอไป ว่าเราจะทำงานในวันนี้ แต่หากไม่จบจริงๆ ก็ขอให้ประชุมต่อวันที่ 23 ส.ค. เชื่อว่าในวันดังกล่าวจะพิจารณาจบวาระ 2 และวาระ 3

ด้านนายศุภชัยกล่าวว่า เมื่อวิปทั้งสองฝ่ายหารือกันเป็นเรื่องที่ดี ควรคุยกันบ่อยๆ เพื่อให้การประชุมราบรื่น วิปเห็นอย่างไร ประธานก็ทำตามที่พวกท่านเสนอมาอยู่แล้ว ซึ่งตนจะนำข้อสรุปเรื่องนี้หารือกับนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ อีกครั้ง คาดว่าจะไม่มีปัญหาอะไร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภาพรวมที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรช่วงเย็น สมาชิกลุกขึ้นอภิปรายในแต่ละมาตราเป็นไปด้วยดีและเรียบร้อย จนกระทั่งถึงมาตรา 29 งบประมาณรายจ่ายของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งทางคณะ กมธ.ได้มีการแก้ไขปรับลดงบประมาณลงเหลือ 84,707 ล้านบาท จากที่เสนอขอมา 84,777 ล้านบาท โดย ส.ส.ส่วนใหญ่ท้วงติงไปที่การทำงานและการลงทุนโครงการของการประปาส่วนภูมิภาค และขอตัดลดงบประมาณเพิ่ม

สุดท้ายล่มไม่เป็นท่า

กระทั่งเวลา 18.30 น. นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาฯ คนที่หนึ่ง ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม กดออดเพื่อส่งสัญญาณให้สมาชิกมาเสียบบัตรแสดงตนเพื่อเช็กองค์ประชุมก่อนลงคะแนนให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในมาตราดังกล่าว ปรากฏว่าจำนวนสมาชิกในห้องประชุมบางตา ทำให้นายสุชาติกดออดอีกครั้ง และขอให้นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.พลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ไปตาม ส.ส.ที่อยู่ในห้องรับประทานอาหารมาแสดงตน แต่ไม่เป็นผล

ขณะที่นายพิเชษฐ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ขอให้ประธานสั่งกล้องแพนเพื่อป้องกันไม่ให้ใครเสียบบัตรแทนกัน ซึ่งประธานที่ประชุมก็เตือนสมาชิกว่าไม่สมควรทำ เพราะเป็นการผิดจริยธรรม และมีตัวอย่างให้เห็นแล้ว

อย่างไรก็ตาม ประธานที่ประชุมได้รอเป็นเวลา 8 นาที แต่สมาชิกมาน้อย จึงสั่งปิดประชุมในเวลา 18.38 น. และนัดประชุมสภาอีกครั้ง ในวันอังคารที่ 23 ส.ค. เวลา 13.00 น.

นายธนกร วังบุญคงชนะ อดีตโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ติดตามการทำหน้าที่ของวิปฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง เพราะกฎหมายงบประมาณเป็นกฎหมายที่สำคัญ และจำเป็นอย่างมากต่อประเทศและประชาชน อย่างไรก็ตาม เข้าใจว่า ส.ส.บางส่วนอาจจะติดภารกิจสำคัญในพื้นที่ที่มีการกำหนดไว้ล่วงหน้าแล้ว ซึ่งบางท่านไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ แต่ ส.ส.ท่านไหนที่สามารถมาร่วมประชุมสภาได้  ก็ขอให้หารือกันด้วยเหตุผล เพื่อผลักดันให้กฎหมายสำคัญฉบับนี้ผ่านสภาได้ เพราะการพิจารณากฎหมายงบประมาณนั้นเป็นเรื่องสำคัญ และจำเป็นที่จะต้องดำเนินการให้เสร็จตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้

"นายกฯ รู้สึกเห็นใจ และขอบคุณในความเสียสละของ ส.ส.ทุกท่าน ที่ร่วมกันพิจารณากฎหมายงบประมาณอย่างเต็มที่ หลายท่านต้องยกเลิกกำหนดการในพื้นที่ ซึ่งถือเป็นการเสียสละอย่างมาก แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือร่วมใจกันของสมาชิกสภา ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เพื่อผลักดันกฎหมายฉบับนี้ผ่านสภาให้ได้ เพื่อจะได้ไปดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป ที่สำคัญประชาชนยังรอให้รัฐบาลเข้าไปช่วยเหลืออยู่ ยืนยันว่ารัฐบาลจะใช้งบประมาณด้วยความรอบคอบ โดยเฉพาะท่านนายกฯ จะไม่ยอมให้เกิดการทุจริตอย่างแน่นอน" นายธนกรกล่าว.

 

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง